“วงษ์สยามก่อสร้าง” จ่อร้องเก้อ หลัง กปน.เซ็นสัญญาโครงการขยายกำลังผลิตน้ำโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล้านไปแล้วก่อนคำสั่งติดเบรกของศาลปกครองจะลงมาถึง ยันจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการเหตุอุโมงค์ลำเลียงน้ำสร้างมาจ่อคอหอยแล้ว หากโครงการขยายกำลังผลิตน้ำล่าช้ากระทบผู้ใช้น้ำ-เสถียรภาพระบบจ่ายน้ำทั้งระบบแน่
วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากการประปานครหลวง (กปน.) กรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ให้การประปานครหลวง (กปน.) ชะลอการลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างและขยายกำลังผลิตน้ำ โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่าโครงการ 6,525 ล้านบาท กับบริษัท ITA Consortium เอาไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอื่นใด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ออกมาร้องเรียนอย่างหนักว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประมูลโครงการนี้ ทั้งๆ ที่ บริษัทเสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่ง แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการประกวดราคาให้เป็นผู้ชนะประมูล โดยอ้างว่าข้อเสนอของวงษ์สยามไม่ผ่านการพิจารณา และขัดคุณสมบัติด้านเทคนิค ทำให้ต้องหันไปพึ่งศาลปกครองนั้น
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบความคืบหน้าล่าสุดได้รับรายงานจากการประปานครหลวง (กปน.) ว่า ผู้ว่าการ กปน.ได้มีการลงนามในสัญญาโครงการจ้างก่อสร้างและขยายกำลังการผลิตน้ำ โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ กำลังการผลิต 8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน กับกิจการร่วมค้า ITA Consortium ที่มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นแกนนำไปแล้วในช่วงสายของวันที่ 24 มีนาคม 66 ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งลงมายัง กปน. จึงทำให้ กปน.ไม่สามารถจะระงับยับยั้งขั้นตอนในการดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ จำเป็นต้องให้ผู้รับเหมาเดินหน้าโครงการไปตามสัญญา โดยคาดว่าฝ่ายบริหาร กปน.คงจะทำคำชี้แจงเพื่อยื่นต่อศาลปกครองต่อไป
ทั้งนี้ เหตุผลที่ กปน.จำเป็นต้องตัดสินใจเดินหน้าลงนามในสัญญาโครงการนี้ เนื่องจากการประมูลยืดเยื้อมาร่วม 2 ปีแล้ว และใกล้สิ้นสุดกำหนดยืนราคาของบริษัทเอกชนที่ชนะประมูลแล้ว ประกอบกับโครงการก่อสร้างและขยายกำลังการผลิตน้ำโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์นั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างเสถียรภาพระบบการจ่ายน้ำให้การประปานครหลวงที่ไม่ได้มีเพียงโครงการนี้โครงการเดียว แต่ยังมีโครงการต่อเนื่องอื่นๆ ที่อยู่ในแผนขยายศักยภาพและสร้างเสถียรภาพระบบจ่ายน้ำของการประปา โดยมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ที่จะนำน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเข้าโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์แห่งนี้รวมอยู่ด้วย ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำคืบหน้าไปกว่า 20% แล้ว หากโครงการก่อสร้างและขยายกำลังผลิตน้ำโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ต้องล่าช้าออกไป ในขณะที่ท่อลำเลียงน้ำก่อสร้างแล้วเสร็จมาจ่อโรงกรองน้ำแล้วจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้น้ำตามมาอย่างแน่นอน และยังจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพระบบการให้บริการประปาตามมา
ด้วยเหตุนี้ บอร์ด กปน.จึงให้อำนาจฝ่ายบริหาร กปน.ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ทำให้ผู้ว่าฯ กปน.จำเป็นต้องตัดสินใจเดินหน้าลงนามในสัญญาโครงการนี้ เพื่อให้การก่อสร้างและขยายศักยภาพของโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์แห่งนี้เดินหน้าสอดคล้องกับการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำที่มีการดำเนินโครงการไปแล้ว
นายชัยยุทธ์ หอมวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง เปิดเผยว่า สาเหตุที่ กปน.และคณะกรรมการประกวดราคายังคงยืนยันในผลประกวดราคา และเหตุผลที่ไม่ได้พิจารณาข้อเสนอราคาของบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างให้เป็นผู้ชนะประมูลนั้น ก่อนหน้านี้ นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนไปแล้ว แม้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างจะเสนอราคาต่ำกว่า แต่ กปน.และคณะกรรมการคัดเลือกจำเป็นต้องพิจารณาข้อเสนอที่ยังประโยชน์ต่อหน่วยงาน และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักมากกว่า "ของถูก" โดยต้องคำนึงถึงเกณฑ์ราคา และพิจารณาเกณฑ์อื่นประกอบ ตามมาตรา 65(2) มาตรฐานของสินค้าหรือบริการ และมาตร 65(6) ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่น ในกรณีที่กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 55(2) วรรคสองตามหนังสือจากกรมบัญชีกลางตอบกลับ ด่วนสุดที่ กค (กวจ) 0405/31807 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่มีใจความสำคัญว่า "หาก กปน.จะดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ใหม่ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้แจ้งผลให้ กปน.ทราบหลังจากที่ กปน.ได้ประกาศผลการประกวดราคาเมื่อ 7 มีนาคม 65 ไปแล้วนั้น"
จากการตรวจสอบผลประมูลในครั้งแรกที่ กปน.ได้ประกาศออกไปแล้วก่อนหน้านั้น นอกจากจะพบว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ มาตั้งแต่แรกแล้ว ยังพบด้วยว่าเครื่องมือและอุปกรณ์ที่บริษัทเสนอที่ถือเป็น “สาระสำคัญ” ยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและคุณสมบัติเฉพาะตามประกาศ TOR กำหนดอีกด้วย!
“ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการนี้ กปน.ได้จัดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน โดยเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยกรมบัญชีกลาง และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้แต่งตั้ง "คณะผู้สังเกตการณ์อิสระ" เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานทุกขั้นตอน ซึ่งที่ผ่านมาคณะผู้สังเกตการณ์ฯ มิได้มีประเด็นข้อกังวลใจใดๆ ในขั้นตอนการดำเนินการ อันสื่อให้เห็นถึงการดำเนินโครงการนี้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน”