xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ชงบอร์ดเคาะจ้างก่อสร้างสัญญา 4-5 ไฮสปีด "ไทย-จีน" รับเหมายืนราคาเดิม เร่งตอกเข็มทางวิ่ง "บ้านโพ-พระแก้ว"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.ชงบอร์ด 23 มี.ค.นี้ขออนุมัติสั่งจ้างก่อสร้างสัญญา 4-5 "บ้านโพ–พระแก้ว" หลังเจรจา "บุญชัยพาณิชย์ฯ" ยืนราคา 10,325 ล้านบาท ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองไม่คืบ หลังเจรจาแก้สัญญาร่วมทุนฯ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินยังไม่ยุติ 

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. วันที่ 23 มีนาคม 2566 จะมีการพิจารณาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กม. ในส่วนของงานสัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. โดยจะเสนอขออนุมัติสั่งจ้างผู้เสนอราคารายถัดไป คือ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) ก่อสร้างงานโยธาผู้เสนอราคาลำดับที่ 3 เนื่องจากผู้เสนอราคาลำดับที่ 1 และ 2 ไม่ยืนราคา ซึ่งได้เจรจาต่อรองราคาสุดท้ายยืนยันที่ 10,325 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่ 11,801 ล้านบาท 

ทั้งนี้ การดำเนินการจ้างก่อสร้างสัญญา 4-5 ดังกล่าว ภายใต้รายงาน EIA ฉบับเดิมที่ได้รับอนุมัติแล้ว เพื่อก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งได้ก่อน ในช่วงรอข้อสรุปสถานีอยุธยาซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อไม่ให้สัญญาในภาพรวมล่าช้า 
 
หากบอร์ด รฟท.อนุมัติจะนำร่างสัญญาส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาจ้างได้ประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค. 2566  


สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีงานโยธา 14 สัญญา ซึ่งขณะนี้เหลือ 3 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนามผู้รับจ้าง โดยนอกจากสัญญา 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว แล้ว ยังมีสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท (ราคากลาง 11,386 ล้านบาท) ซึ่งล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว โดย บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้รับการคัดเลือก อยู่ในระหว่างเจรจาการยืนราคา

อีกสัญญาคือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งมีประเด็นการแก้ปัญหาการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมบอร์ด รฟท. วันที่ 23 มี.ค. 2566 นี้ ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ส่วนการแก้ปัญหาโครงสร้างช่วงทับซ้อน จะต้องรอเรื่องการปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท ให้ได้ข้อยุติก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น