บอร์ดอีอีซีเห็นชอบแบ่งจ่ายค่าสิทธิ์ "แอร์พอร์ตลิงก์" 7 งวด บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสให้ รฟท. อีก 1,060 ล้านบาทเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ส่วนแก้สัญญาร่วมทุนฯ ยังไม่จบ เงื่อนไขรัฐจ่ายระหว่างก่อสร้างไม่ลงตัว
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2566 วันพุธที่ 1 มีนาคม 2566 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยังไม่มีการพิจารณาการปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท โดยที่ประชุมได้พิจารณาหลักการกรณีผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งจากสถานการณ์โควิด 19
เบื้องต้นได้เห็นชอบประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย และอนุมัติแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านเหตุสุดวิสัยและการผ่อนผันให้เหมือนกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือ จะได้ไม่ต้องเอามาเข้าที่ประชุมอีก
ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมพร้อมช่วยให้บริการ ARL เกิดความต่อเนื่อง ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น รฟท. ไม่ต้องรับภาระขาดทุน และได้รับดอกเบี้ยชดเชยค่าเสียโอกาสครบถ้วน ภาคเอกชนสามารถแก้ปัญหาการเงิน รับสิทธิ์ เดินรถ ARL พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้นได้ต่อเนื่อง
ส่วนจะเริ่มจ่ายเมื่อใดจะต้องรอการแก้สัญญาร่วมทุนฯ ก่อน หรือจะแยกเรื่องการจ่ายเงินอุดหนุนออกมาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนได้หรือไม่ ต้องพิจารณากันต่อไป เพราะเรื่องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา) ต้องไปคุยกันต่อให้จบก่อน โดยหลักการรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ เมื่อมีการเดินรถเท่านั้น แต่หากอีก 5 ปีมีการก่อสร้างบางส่วนเสร็จก่อนก็อาจจะจ่ายเงินส่วนนั้นไปก่อนได้เหมือนมอเตอร์เวย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างเสร็จทั้งหมดก็เริ่มเบิกจ่ายค่างานอุดหนุนได้” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ผู้โดยสารและรายได้ลดลงจาก 70,000 คน/วัน เหลือ 10,000 คน/วัน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของโครงการต่อสถาบันการเงิน เอกชนคู่สัญญาจึงขอให้ รฟท.เยียวยาผลกระทบ จากเดิมกำหนดให้เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าสิทธิ ARL เต็มจำนวน 10,671.09 ล้านบาท ในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เป็นการขอแบ่งชำระค่าสิทธิ ARL พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 10 งวด หากไม่มีการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิ ARL อาจทำให้เอกชนกลายเป็นผู้ผิดสัญญา และต้องยุติการเดินรถ ARL ซึ่งจะทำให้บริการต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อประชาชน
เนื่องจาก รฟท.ได้โยกย้ายบุคลากรของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งเดิมทำหน้าที่เดินรถ ARL ไปเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว ทำให้ไม่มีบุคลากรมาเดินรถ ARL แทน และหากให้ รฟฟท.ดำเนินการเดินรถ ARL ต่อไป รฟท. ต้องรับภาระขาดทุนจากการดำเนินงานเฉลี่ยปีละ 309.5 ล้านบาท โดยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2564 เป็นจำนวนประมาณ 3,095 ล้านบาท และมีผลการขาดทุนสูงถึง 830.73 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
การที่เสนอขอแบ่งชำระเงินค่าสิทธิ ARL บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงการจัดสรรความเสี่ยงระหว่าง รฟท.และเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสมเป็นธรรม โดย รฟท.ไม่เสียประโยชน์และเอกชนคู่สัญญาไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยเอกชนคู่สัญญายังคงเป็นผู้รับความเสี่ยงในจำนวนผู้โดยสาร การลงทุน ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงและให้บริการโครงการ ARL
@แก้สัญญาร่วมทุนฯ ไม่จบ ต้องเจรจาต่อ ติงเงื่อนไขรัฐจ่ายร่วมทุนเร็วขึ้น
สำหรับประเด็นที่มีการเจรจา คือรัฐจะทยอยชำระค่าร่วมลงทุน วงเงิน 118,611 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่กำหนดชำระเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นในระหว่างการก่อสร้าง ปีที่ 2-8 (2566-2570) และเพิ่มเงินประกันผลงาน 5% ของแต่ละงวดด้วยนั้น ที่ประชุม กพอ.ครั้งนี้ยังไม่ได้หารือกันในประเด็นดังกล่าว
ซึ่ง กพอ.เห็นว่าควรดำเนินการตามเงื่อนไขเดิมใน TOR คือ จะเริ่มจ่ายปีที่ 6-15 หลังเปิดบริการไปแล้วจะใช้เวลา 10 ปี จึงจะจ่ายค่าอุดหนุนครบทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ อาจจะพิจารณาจ่ายในกรณีทยอยสร้างเสร็จ และทยอยเปิดเดินรถก็ได้ ต้องคุยกัน
นอกจากนี้ ในการจ่ายเงินอุดหนุน เนื่องจากนำไปผูกไว้กับการทาง ซี.พี.จะรับภาระก่อสร้างงานโยธาเป็นโครงสร้างร่วมกับโครงการถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินประมาณ 9,207 ล้านบาท ทำให้ต้องพิจารณาในประเด็นนี้ไปพร้อมกัน โดยยังตกลงกันไม่ได้ ทั้งนี้ ในส่วนโครงสร้างร่วมบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ประชุม กพอ.พิจารณาให้ รฟท.ดำเนินการในช่วงทับซ้อนดังกล่าวไปก่อนได้ เพราะ รฟท.ก็มีงบประมาณอยู่แล้ว
สำหรับการดำเนินการแก้ไขสัญญา จะสรุปเสนอทัน ครม.ชุดนี้หรือไม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะการเจรจายังไม่จบ ขณะที่เป้าหมายที่จะเริ่มก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 2566 นี้คงยังเริ่มต้นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีการแก้ไขสัญญา เมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถนำมาพิจารณาเสนอขออนุมัติได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณ และเกี่ยวพันกับการแก้ไขสัญญาที่ผูกพันกับกฎหมายหลายฉบับ จึงเห็นว่าควรรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาจะดีกว่า