แก้สัญญาร่วมทุนฯ "ไฮสปีด 3 สนามบิน" ส่อยื้อ หลังมีความเห็นกังวลรัฐมีความเสี่ยง กรณีปรับเงื่อนไขควักจ่ายร่วมลงทุนเร็วขึ้น จากเดิมจ่ายหลังก่อสร้างเสร็จ กบอ.ยังไม่เคาะผ่าน ตั้ง "จุฬา" ว่าที่เลขาฯ อีอีซี เป็นที่ปรึกษาช่วยหารือคลังเพื่อความชัดเจน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2566 ได้หารือถึงความคืบหน้าแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งคณะทำงานฯ ที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้รายงานแนวทางแก้ปัญหา 4 ข้อ ที่คณะกรรมการ 3 ฝ่าย มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน
(เอกชนคู่สัญญา) เจรจาได้ข้อยุติ
ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีประเด็นข้อกังวลกรณีการปรับเงื่อนไขการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนเร็วขึ้น จากเดิมที่รัฐเริ่มชำระหลังงานก่อสร้างทั้งโครงการแล้วเสร็จ เป็นทยอยชำระระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีความเห็นว่าอาจจะเป็นประเด็นคำถามในเรื่องความเสี่ยงของภาครัฐได้ เนื่องจากเงื่อนไขเดิมในช่วง 5-6 ปีแรกรัฐจะไม่มีภาระทางการเงินและไม่มีความเสี่ยง แต่การปรับเงื่อนไขแล้วทำให้รัฐกลับมามีความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อกังวลว่าผู้ร่วมประมูลอาจจะฟ้องร้องได้ จากเหตุกรณีมีการเปลี่ยนเงื่อนไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงกติกาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ร่วมประมูลรายอื่น
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม กบอ. โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แต่งตั้งนายจุฬา สุขมานพ ในฐานะว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คนใหม่ เป็นที่ปรึกษา กบอ. และให้ช่วยนำประเด็นข้อกังวลดังกล่าวหารือกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง.เพื่อให้เกิดความชัดเจน และให้นำรายงานต่อ กบอ.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องรอดูว่า กบอ.จะพิจารณาเรื่องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอย่างไร และหากได้ข้อยุติจะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกำหนดประชุม จึงคาดว่าเรื่องนี้มีโอกาสที่อาจจะยืดเยื้อต่อไป เพราะเป็นช่วงรัฐบาลใกล้หมดวาระ เพราะหลัง กพอ.อนุมัติก็ยังมีขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน จึงจะสามารถลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนเอกชนได้
สำหรับข้อเสนอการแก้ไขปัญหา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วย การปรับเงื่อนไขการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 10,671 ล้านบาท จากงวดเดียวโดยชำระภายหลังลงนามสัญญาร่วมลงทุน 2 ปี โดยเอกชนขอแบ่งชำระ 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย
นอกจากนี้ มีประเด็นงานโยธา ช่วงทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 (บางซื่อ-ดอนเมือง) โดยให้ทาง บ.เอเชีย เอรา วันฯ เป็นผู้ก่อสร้างส่วนของโครงสร้างร่วม และรับค่าก่อสร้างด้วย โดยออกแบบรองรับมาตรฐานรถไฟไทย-จีนความเร็ว 250 กม./ชม. มีค่าก่อสร้างอยู่ที่ 9,207 ล้านบาท ซึ่งรัฐไม่ต้องจ่ายค่าก่อสร้างเพิ่มนี้ และล่าสุดมีการปรับสเปกลดความเร็วของรถไฟไทย-จีน จาก 250 กม./ชม. เป็น 160 กม./ชม. ซึ่งทำให้ค่าก่อสร้างลดลงอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือรัฐลดค่าใช้จ่ายโครงสร้างร่วมนี้ จากประมาณที่ 9,207 ล้านบาท เหลือประมาณ 7,200 ล้านบาท
ประเด็นปรับเงื่อนไขสัมปทาน โดยให้ภาครัฐเริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นจากที่กำหนดไว้เดิม ในปีที่ 6 (นับจากเข้าพื้นที่ก่อสร้าง) และลดระยะเวลาลงจาก 10 ปี เหลือ 7 ปีด้วย ซึ่งส่งผลให้รัฐประหยัดค่าก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ช่วงทับซ้อน และค่าดอกเบี้ยเงินในอนาคตที่นำมาจ่ายก่อน และอัตราคิดลด (Discount Rate) ภาพรวมเกือบ 27,000 ล้านบาท