รฟท.เตรียมจ่ายค่างานระบบและขบวนรถ สัญญา 2.3 รถไฟไทย-จีน งวดแรกกว่า 7,600 ล้านบาท หรือ 15% จากมูลค่ารวม 5.06 หมื่นล้านบาท หลังบอร์ด รฟท.เห็นชอบแผนบริหารอัตราแลกเปลี่ยนรองรับค่าบาทอ่อน พร้อมเร่งตรวจรับแบบและเดินหน้าผลิตขบวนรถ เป้าเปิดปี 70
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) วงเงินสัญญา 50,633.50 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นไปตามความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยมีส่วนที่ต้องชำระเป็นสกุลต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเตรียมจ่ายเงินงวดแรก (ADVANCE PAYMENT) 15% ช่วงเดือน ก.พ. 2566
ตามเงื่อนไขสัญญา 2.3 วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท กำหนดชำระเป็นเงินสกุลดอลลาร์ 80% จำนวน 1,313,895,273 ดอลลาร์ (40,506.8 ล้านบาท) เป็นสกุลบาท 20% หรือ 10,126.5 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบสัญญา 2.3 จะมีการชำระเป็นเงินสกุลดอลลาร์ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในช่วงวันที่ 25 เม.ย. 2562-วันที่ 30 พ.ย. 2562 ที่อัตรา 30.82955 บาทต่อ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขณะปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ประมาณ 33 บาท
ดังนั้น คณะทำงานบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของสัญญา 2.3 ซึ่งมีรองผู้ว่าฯ รฟท. ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง เป็นต้น จึงร่วมพิจารณาแผน โดยได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ประเด็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการจ่ายค่างานสัญญา 2.3 โดยผู้แทน สลค.ได้ให้ความเห็นว่ามติ ครม.ไม่ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ดังนั้น ในการชำระค่างาน ในแต่ละงวดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ในขณะนั้นกรณีอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลง จนส่งผลกระทบทำให้กรอบวงเงินสัญญาเพิ่มขึ้น ให้นำเสนอ ครม.ขยายกรอบในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า รฟท.จะมีการจ่ายเงินงวดแรก (ADVANCE PAYMENT) ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2566 ที่สัดส่วน 15% ของมูลค่าสัญญา (50,633.50 ล้านบาท) คิดเป็นวงเงินประมาณ 7,600 ล้านบาท โดยจะจ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ประมาณ 195 ล้านเหรียญ US และเงินบาทอีกประมาณ 1,518 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้างานสัญญา 2.3 (สัญญาการวางรางและระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท รฟท.ได้มีการลงนามบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) วันที่ 28 ต.ค. 2563 ขณะนี้เป็นการออกแบบอยู่ในขั้นตอนการตรวจรับรองแบบ และ รฟท.เตรียมจ่ายเงินล่วงหน้างวดที่ 1 ให้ทางจีนนำไปจัดหาอุปกรณ์ ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับเริ่มงานการผลิตขบวนรถ ตามแผนงานเปิดให้บริการในปี 2570
โดยสัญญา 2.3 จะแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. งานออกแบบระบบทั้งหมดและขบวนรถไฟ วงเงินประมาณ 700-800 ล้านบาท 2. งานติดตั้ง วงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท จะเริ่มหลังจากงานออกแบบเสร็จ และงานโยธามีความคืบหน้าสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เข้าวางราง และติดตั้งระบบไฟฟ้า, อาณัติสัญญาณ, ระบบสื่อสารได้รวมถึงการผลิตขบวนรถไฟ และ 3. งานฝึกอบรม วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงด้วย