xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น 'กบอ.' ถกแก้สัญญา 'ไฮสปีด' เร่งชงบอร์ดอีอีซีเคลียร์สเปกทับซ้อน "ไทย-จีน" รฟท.ยันส่งพื้นที่ใน มิ.ย. 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบินใกล้จบ ปรับแบบช่วงทับซ้อน 'รถไฟไทย-จีน' ลงตัว คาด 3 ก.พ. กบอ.เคาะเงื่อนไข 4 ข้อ 
ชงบอร์ดอีอีซีใน 10 ก.พ. ด้าน รฟท.ยันส่งมอบพื้นที่ช้าสุด มิ.ย. 66 พร้อมโอน SRTA บริหารพื้นที่ "แอร์พอร์ตลิงก์" ช่วงรอยต่อ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ว่า จากที่คณะทำงานฯ มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้พิจารณาความเหมาะสมของแนวทางแก้ปัญหารวม 4 ข้อ ที่คณะกรรมการ 3 ฝ่าย โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา) เจรจาได้ข้อยุติ โดยยังเหลือความชัดเจนในประเด็นการก่อสร้างงานโยธา ช่วงทับซ้อนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (รถไฟไทย-จีน) สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กรณีควรให้โครงการรถไฟไทย-จีนปรับลดความเร็วจาก 250 กม./ชม. เป็น 160 กม./ชม. ซึ่งล่าสุดกระทรวงคมนาคมแจ้งผลการหารือกับจีนในการปรับลดความเร็วของรถไฟไทย-จีน ช่วงทับซ้อน “บางซื่อ-ดอนเมือง” เป็น 160 กม./ชม. โดยยังคงเป็นไปตามมาตรฐานเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน 

คาดว่าในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในวันที่ 3 ก.พ. 2566 จะมีการพิจารณาความเหมาะสมของแนวทางแก้ปัญหา 4 ข้อ และเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ และคาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่จะมีการประชุม พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 10 ก.พ. 2566 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน ต่อไป

สำหรับการแก้ไขปัญหามี 4 ข้อ ประกอบด้วย การปรับเงื่อนไขการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 10,671 ล้านบาท และกรณีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19, การส่งมอบพื้นที่, ปัญหาลำรางสาธารณะ  

และประเด็น งานโยธา ช่วงทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 (บางซื่อ-ดอนเมือง) กรณีปรับสเปกลดความเร็วของรถไฟไทย-จีน ช่วงจาก 250 กม./ชม. เป็น 160 กม./ชม. ซึ่งทำให้ค่าก่อสร้างลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือรัฐลดค่าใช้จ่ายโครงสร้างร่วมนี้จากประมาณที่ 9,207 ล้านบาท เหลือประมาณ 7,200 ล้านบาท 

ซึ่งเดิมกรรมการ 3 ฝ่ายได้กำหนดกรอบเวลาในการแก้สัญญาร่วมลงทุนฯ และคาดการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) อย่างช้าไม่เกินวันที่ 4 ม.ค. 2566 


@รฟท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ เผยช้าสุดภายใน มิ.ย. 66

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า รฟท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ตามขอบเขตก่อสร้างให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน (คู่สัญญา) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินดำเนินการทันที หากมีการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) เรียบร้อย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะทำงาน ที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน หลังมีข้อสรุปต้องเสนอคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และต้องเสนอบอร์ดอีอีซี ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอนุมัติต่อไป จากนั้นจึงจะลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ได้

“ที่ผ่านมา รฟท.ได้เร่งรัดการรื้อย้ายสาธารณูปโภค การเวนคืนช่วงพญาไท-ดอนเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ของบ้านราชวิถี โดยรฟท.ได้เข้าไปเจรจาการดูแลต่างๆ เพื่อเร่งรัดเร็วกว่าแผน คาดจะเรียบร้อยภายในเดือน มิ.ย. 2566 ดังนั้นเรื่องส่งมอบพื้นที่ไม่มีปัญหา แต่ทั้งนี้ เงื่อนไขในการออก NTP ให้เริ่มงานนั้น นอกจากต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ แล้ว ส่งมอบพื้นที่ ส่วนเอกชนยังต้องรับส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้เรียบร้อยก่อนด้วย” นายนิรุฒกล่าว

@ บอร์ด รฟท.เห็นชอบ SRTA บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ "แอร์พอร์ตลิงก์" ชั่วคราว

นายนิรุฒกล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 เห็นชอบให้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกของ รฟท. เช่าพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเช่าพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์โดยไม่ต้องประมูลเป็นการชั่วคราว รวมพื้นที่ประมาณ 4,000 ตารางเมตร

ทั้งนี้ เนื่องจาก บริษัท โคอาซะ มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะหมดสัญญาวันที่ 6 ก.พ. 2566

ขณะที่การแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารพื้นที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และการให้บริการประชาชนผู้ใช้บริการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รฟท.จึงให้ SRTA เข้าดูแลบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านค้าต่างๆ ไปจนกว่าการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ จะแล้วเสร็จ และบริษัท เอเชีย เอรา วััน ชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ตามข้อตกลง รฟท.จึงจะโอนสิทธิรถไฟห้าแอร์พอร์เรลลิงก์ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน ต่อไป

สำหรับบริษัท โคอาซะ มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 8 สถานี ได้แก่ สถานีพญาไท ราชปรารภ มักกะสัน รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง และสุวรรณภูมินั้น ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556 โดย รฟท.ได้รับรายได้ ผลตอบแทนในปีสุดท้ายประมาณ 6 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น