ศูนย์ข่าวศรีราชา - ได้ข้อสรุป สถานีจอดรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในเมืองพัทยา ยังคงใช้พื้นที่สถานีรถไฟเดิมในซอยชัยพรวิถี หลังที่ประชุม TOD จัดสรรพื้นที่ 900 ไร่ สร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ต่อยอดโครงการรถไฟฟ้า Tram
จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายจัดทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมท่าอากาศยานสำคัญของไทย เริ่มจากท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้าย รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร
โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นการร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐครั้งสำคัญของไทยแบบ PPP (Public-Private-Partnership) มูลค่าการลงทุนสูงถึง 224,544 ล้านบาท ภายใต้อายุสัมปทาน 50 ปี หลังจากนั้นทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
และคาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิดให้บริการได้โดยเร็ว และเมื่อถึงวันนั้นโครงการน่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาทนั้น
ล่าสุด นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังเข้าประชุมร่วมกับ TOD หรือคณะกรรมการพิจารณาโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จังหวัดชลบุรี ว่า ขณะนี้ได้บทสรุปแล้วว่าสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะมีพื้นที่จอดสถานีรถไฟเดิมของเมืองพัทยาอยู่ในซอยชัยพรวิถี ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
หลังก่อนหน้านี้มีท่าทีว่าผู้สัมปทานจะย้ายจุดจอดรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปสถานีห้วยขวาง หรือชากแง้ว ใน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง และขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินในฝั่งตะวันออกภายในซอยชัยพรวิถี ในพื้นที่รวมกว่า 50 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และยังมีแผนที่จะจัดทำ TOD ที่จะต้องใช้พื้นที่กว่า 900 ไร่ โดยรอบสถานีเพื่อจัดสร้างเป็นศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม สวนสาธารณะ จุดสันทนาการ รวมไปถึงพื้นที่จอดของระบบขนส่งมวลชน
“ในส่วนของโครงการ TOD จะไม่ใช้วิธีเวนคืนแต่จะเป็นการเสนอแนวทางการลงทุนร่วมกับเจ้าของอาคาร ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในกรอบพื้นที่ที่กำหนด และในเร็วๆ นี้จะมีการประชุมร่วมเพื่อหารือกับภาคประชาชน ภาคสังคม รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ถึงผลดี ผลเสีย และผลประโยชน์ของทั้งผู้ลงทุนและผู้ถือกรรมสิทธิ์อาคาร รวมทั้งที่ดินที่จะได้รับ”
รองนายกเมืองพัทยา เผยอีกว่า การดำเนินงานดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลาที่นานพอสมควรเนื่องจากพื้นที่ในกรอบทำงานมีมากถึง 900 ไร่ และจะกินพื้นที่ของเมืองพัทยาในสัดส่วนร้อยละ 60 คือ ตั้งแต่พื้นที่ ม.6 ต.นาเกลือ และ ม.5 ต.หนองปรือ
และอีกร้อยละ 40 จะเป็นพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองหนองปรือ คือในพื้นที่ ม.5 ต.หนองปรือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นย่านพักอาศัยในแปลงที่ดินขนาดเล็ก กลาง และใหญ่นับ 1,000 ราย
ด้านตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสม ระบุว่า ในส่วนของการศึกษาความเหมาะสมเพื่อจัดทำระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้าในเมืองพัทยา ได้กำหนดรูปแบบไว้ 3 ประเภท คือ แบบบนพื้นถนน หรือ Tram แบบยกระดับ หรือ BTS และ Monorail รวมทั้งแบบใต้ดินหรืออุโมงค์
โดยผลจากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียจำนวน 2 ครั้ง ไม่นับรวมการประชุมย่อยที่มีการวิเคราะห์ปัจจัยหลักทางด้านกายภาพ สภาพถนนเดิม เส้นทาง และการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงบประมาณการลงทุน พบว่า โครงสร้างรถไฟฟ้าทั้งแบบคร่อมรางยกระดับ หรือระบบ Monorial และวิ่งบนพื้นถนน หรือ TRAM มีความเหมาะสมกับพื้นที่เมืองพัทยา
จึงได้เร่งทำการศึกษาออกแบบและวางแผนเส้นทาง สถานีรับส่ง สถานีจอด และศูนย์ซ่อม โดยเน้นการพิจารณาในเรื่องผลกระทบด้านการเดินทาง และทัศนียภาพ รวมถึงการเวนคืนเป็นหลัก
และจากผลการนำเสนอแนะแนว 4 เส้นทางการเดินรถเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ใช้สีเขียว ระยะทางรวม 8.3 กม. และอีก 1.8 กม.เพื่อมุ่งสู่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย จาก 13 สถานีจอด โดยจะวิ่งตามเส้นทางจากสถานีรถไฟพัทยาที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงมาตามถนนสายมอเตอร์เวย์ เข้าถนนพัทยาเหนือ ไปถึงวงเวียนปลาโลมา ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนพัทยาสายสอง ไปจนถึงแยกทัพพระยา และมุ่งตรงสู่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย
เส้นทางดังกล่าวมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกที่ 16 บาท และ กม.ต่อไปคิด กม.ละ 2.80 บาท แต่ไม่เกิน 45 บาทตลอดเส้นทางในรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้า BTS เพียงแต่อาจมีอัตราที่สูงกว่าเล็กน้อย เนื่องจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน จ.ชลบุรี สูงกว่า กทม.หรืออยู่ที่ 336 บาทต่อวัน ขณะที่ กทม.อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน
ขณะที่การเวนคืนที่ดินจะใช้พื้นที่ไม่มากนักแต่อาจต้องใช้งบประมาณลงทุนสูงถึง 20,805 ล้านบาท ขณะที่แนวทางการลงทุนจะได้นำเสนอทั้งในรูปแบบของ PSC หรือ PPP ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับภาคเอกชนที่ปัจจุบันพบว่ามีผู้ที่สนใจขอร่วมทุนหลายราย