xs
xsm
sm
md
lg

เมกะโปรเจกต์โคราชรุดหน้าต่อเนื่อง เฮอุโมงค์ทางลอดกลางเมือง 2 แห่งได้งบฯ รวด 1,300 ล้าน ก่อสร้างปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เมกะโปรเจกต์โคราชเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งไฮสปีดเทรน รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์และท่าเรือบก เฮลั่นอุโมงค์ทางลอด 2 แห่งแก้ปัญหาการจราจรกลางเมืองโคราชได้รับอนุมัติงบฯแล้วรวมกว่า 1,300 ล้าน คาดเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ แล้วเสร็จปี 2568

วันนี้ (23 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ที่ห้องนางสาวบุญเหลือ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีโครงการสำคัญ คือ โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย


โดยผู้แทนกรมการขนส่งทางรางและผู้แทน รฟท.รายงานว่า รถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) มีความคืบหน้าในภาพรวม 14.14% งานก่อสร้างโยธาแบ่งเป็น 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 สัญญา ลงนามสัญญา 1 สัญญา และอยู่ระหว่างประกวดราคา 3 สัญญา

และรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 คาดว่าจะส่งให้การรถไฟฯ ภายในเดือน ก.ย. 2565 ก่อนเสนอสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาดำเนินการ


ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ และช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง, ผู้แทน รฟท.ชี้แจงว่า 1. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 สัญญา (สัญญาที่ 1) ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร คืบหน้า 95.17% สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์ คืบหน้า 92.15% และสัญญาที่ 4 งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนแบบรูปแบบรายละเอียด การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเสนอรูปแบบทางเลือกโครงสร้างทางรถไฟเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา กรณีมีการร้องเรียนช่วงเทศบาลบ้านใหม่ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ต้องการให้ปรับรูปแบบคันทางรถไฟในพื้นที่ให้เป็นโครงสร้างยกระดับเพื่อลดปัญหาเรื่องการระบายน้ำและการจราจร

2. ช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นชอบรายงาน EA เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 3 เส้นทาง (ช่วงขอนแก่น-หนองคาย, ช่วงชุมทางถนนจิระ อุบลราชธานี และช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย) เสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเสนอขออนุมัติโครงการต่อไป ขณะที่ตัวแทนจากเทศบาลนครนครราชสีมาขอรับแบบรูปการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในช่วงที่ผ่านเขตเทศบาลฯ เพื่อพิจารณาว่ารูปแบบการก่อสร้างมีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนในระหว่างการก่อสร้างฯ โดยเฉพาะระบบประปาซึ่งมีการวางท่อใต้ดิน


สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ผู้แทน รฟม.ชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมขอให้ทำการศึกษารูปแบบการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันเกี่ยวกับงบประมาณและจำนวนผู้โดยสาร มีการจ้างที่ปรึกษาเพิ่มเติม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 พิจารณาเทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็นทางเลือกวิเคราะห์ในด้านต่างๆ และจะมีการนำผลการศึกษาลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้ในเดือนตุลาคม 2565 นำผลการศึกษาไปรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2565 แล้วนำเสนอกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ก่อนเสนอเข้า ครม.ในปี 2567

ทางด้านความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ผู้แทน กทท.ชี้แจงว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้ ปี 2566-2567 การท่าเรือฯ พิจารณาคัดเลือกพื้นที่และศึกษาความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ของ PPP, ปี 2568 เสนอกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ PPP และเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการ PPP ท่าเรือบกนครราชสีมา, ปี 2569 เป็นขั้นตอน PPP ของการคัดเสือกเอกชนตามมาตรา 32 และจะมีการเวนคืนจะเริ่มออก พ.ร.ฎ.เวนคืน และจ้างที่ปรึกษาสำรวจ, ปี 2570 จ่ายค่าชดเชยที่ดิน, ปี 2571-2572 เริ่มก่อสร้าง, ปี 2573 เปิดให้บริการ

ทั้งนี้ จะมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ระยะเวลาการศึกษา 210 วัน ปี 2566-2570 คู่ขนานกันไป ซึ่งสามารถแก้ไขรูปแบบได้ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง


ด้านความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือมอเตอร์เวย์ (M6) และโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับเชื่อมสายบางปะอิน-นครราชสีมา กับทางหลวงชนบทหมายเลข ขม.1120 (ถนนสุรนารี 2) อำเภอเมืองนครราชสีมา ผู้แทนกรมทางหลวงชี้แจงว่า 1. โครงการมอเตอร์เวย์ (M6) มีทั้งหมด 40 ตอน สำหรับในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามี 20 ตอน แล้วเสร็จ 17 ตอน คงเหลือ 3 ตอน รอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมปี 2566 ผลงานภาพรวม 98.28%

และ 2. โครงการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างมอเตอร์เวย์กับถนนสุรนารี 2 ระยะเวลาดำเนินการ 840 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 3 มกราคม 2567 ผลงาน 24.19% เร็วกว่าแผน 3.39% ข้อเสนอจากหน่วยงานในพื้นที่ ผู้แทนภาคประชาชน ขอทราบความก้าวหน้าโครงการฯ ตอนที่ 39 ในช่วงบริเวณอำเภอขามทะเลสอ กรณีสะพานข้ามทางมอเตอร์เวย์ไม่มีทางเชื่อมต่อกับถนน จำนวน 2 สะพาน ซึ่งเบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลว่าไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 และกรมทางหลวงได้ของบประมาณประจำปี 2567


ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 224 แยกนครราชสีมา (บิ๊กชี) และบริเวณทางแยกบ้านประโดก (พีกาชัส) ผู้แทนกรมทางหลวงชี้แจงว่า จุดที่ 1 อุโมงค์แยกนครราชสีมา (บิ๊กชี) ลักษณะโครงการจะเป็นอุโมงค์ทางลอด 2 ช่องจราจร (ทิศทางไปสระบุรี) อยู่ในงบประมาณปี 2566 งบประมาณ 480 ล้านบาท และ 2. อุโมงค์แยกประโดก (พีกาชัส) เป็นทางลอด 6 ช่องจราจรไป 3 ช่องจราจรกลับ 3 ช่องจราจร อยู่งบประมาณปี 2566 งบประมาณ 850 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ภายในเดือน ก.ย. 66 จะดำเนินการก่อสร้างได้ โดยทั้ง 2 อุโมงค์คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น