xs
xsm
sm
md
lg

“SRTA-ศิริราช” ลุยศึกษาแผนแม่บทพัฒนาที่ดินสถานีธนบุรีกว่า 147 ไร่ “ศักดิ์สยาม” ลั่นทำเลทองปักธงปีนี้ประมูลนำร่อง 14 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SRTA จับมือ ศิริราช ศึกษาแผนแม่บทพัฒนาที่ดินรถไฟสถานีธนบุรีและศิริราชกว่า 147 ไร่ “ศักดิ์สยาม” ปักธงปีนี้นำร่องประมูลแปลง 14 ไร่ ยกบ้านพักรถไฟขึ้นตึก ผุด TOD พร้อมศูนย์สาธารณสุข และเร่งศึกษาแปลงใหญ่ บางซื่อ, มักกะสัน, RCA หารายได้หนุนกิจการรถไฟ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ว่า ความร่วมมือนี้ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งในการบริหารพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตามแนวเส้นทางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ในด้านการคมนาคมและสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทาง Transit - Oriented Development หรือ TOD โดยศิริราชพยาบาลจะเข้าร่วมทำการศึกษาแผนแม่บท การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟธนบุรีและสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และประโยชน์แก่สาธารณชน ภายใต้แนวคิด Medical District & Green Society ซึ่งจะตอบโจทย์การคมนาคมและบริการด้านสาธารณสุขของประชาชน


โครงการพัฒนาสถานีรถไฟธนบุรีมีพื้นที่รวมทั้งหมด 147.92 ไร่ (236,672 ตร.ม.) บริษัท SRTA จะใช้เวลาศึกษาแผนแม่บท 6 เดือน ค่าศึกษาวงเงินประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เห็นรูปแบบและการแบ่งพื้นที่และระยะเวลาในการพัฒนาแต่ละเฟส ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดโครงการนำร่องเฟสแรกประมาณ 14 ไร่เศษ ที่จะเปิดประมูลภายในปี 2566 เนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟในปัจจุบัน โดยจะมีการสร้างที่อยู่อาศัยทดแทนให้พนักงานรูปแบบอาคารในแนวดิ่ง และจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่ทำให้เห็นการเคลื่อนย้ายผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่จะพัฒนาโดยไม่มีผลกระทบและเมื่อพัฒนาเสร็จจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอีกด้วย

สำหรับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีตามหลัก TOD นั้นอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเป็นสถานีรถไฟธนุบรีแล้ว มีการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวกับโรงพยาบาล ที่จอดรถ ตลาด และที่พักอาศัย และเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ตรงข้ามกับเกาะรัตนโกสินทร์ ติดกับโรงพยาบาลศิริราช จึงมีศักยภาพในการพัฒนาสูง สามารถพัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ศูนย์กลางการคมนาคม ที่สำคัญ ทางฝั่งธนบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศ SRTA จึงจัดทำโครงการศึกษาการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี โดยมีแนวคิดการพัฒนาเพื่อยกระดับพื้นที่ให้เป็นเมืองแห่งการแพทย์ (Medical District) ที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นเมืองสีเขียว (Green Society) ด้วย

“พื้นที่สถานีรถไฟธนบุรีมีศักยภาพ เนื่องจากจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้มให้บริการในปี 2569 และรถไฟสายสีแดงที่อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ และติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีท่าเรือ และยังมีถนนเชื่อมต่อสะดวกคาดว่าจะสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้รถไฟได้อย่างมาก โดยได้มอบหมายให้รถไฟ โดย SRTA เร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และบริหารที่ดินทั่วประเทศที่มีจำนวนมาก สร้างรายได้ นำไปใช้บริหารในกิจการบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อลดภาระของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณอุดหนุน แต่คงต้องใช้เวลา เพราะหลายประเทศที่มีการพัฒนารูปแบบ TOD เช่น โยโกฮามา โอซากา ใช้เวลาพัฒนา 40-50 ปี โดยแบ่งเป็นเฟส ซึ่งตอนนี้เรามีแนวคิดและรูปแบบและต้องเริ่มต้น นำร่อง และทำให้ประชาชนเข้าใจและรับรู้การพัฒนาและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น” นายศักดิ์สยามกล่าว


นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท SRTA กล่าวว่า สถานีรถไฟธนบุรีมีพื้นที่รวมทั้งหมด 147.92 ไร่ ใช้เวลาศึกษาแผนแม่บท 6 เดือน โดยโครงการนำร่องเฟสแรกที่จะนำออกประมูลพัฒนามีพื้นที่ประมาณ 14 ไร่เศษ ซึ่งเป็นพื้นที่ในโซน 21 ไร่เดิมแต่มีการเวนคืนเพื่อสร้างถนนของ กทม.ประมาณ 3 ไร่เศษ และจะเป็นบ้านพักพนักงานรถไฟ ประมาณ 300 ครัวเรือน พัฒนาในแนวดิ่งประมาณ 3 ไร่เศษ ดังนั้นจะเหลือพื้นที่ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ประมาณ 14 ไร่เศษ ส่วนจะเป็นรูปแบบใดจะต้องรอสรุปผลการศึกษาก่อน โดยจะเปิดประมูลได้ในปีงบประมาณ 2566

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่ทั้ง 147.92 ไร่ จะมีการจัดโซน และแบ่งเฟส คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนามากกว่า 30 ปี โดยจะทยอยพัฒนาแต่ละแปลงตามผลศึกษา เช่น พื้นที่ตลาดศาลาน้ำร้อน ซึ่ง รฟท.มีการต่อ สัญญาเช่าไปถึงปี 2575 การพัฒนาจะต้องให้สอดคล้องกับสัญญาเช่าในแต่ละแปลงด้วย

นอกจากสถานีรถไฟธนบุรีแล้ว ขณะนี้ SRTA อยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนาที่ดินของ รฟท.ที่มีศักยภาพ ได้แก่ พื้นที่รอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ แปลง A และแปลง E) ซึ่งจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน คาดว่าจะได้รูปแบบและนำออกเปิดประมูลได้ในปีนี้ และยังมีการศึกษาพื้นที่บริเวณโครงการรอยัลซิตี้อเวนิว (RCA) ถนนพระราม 9 ที่ดินมักกะสันบางส่วน โดยจะสรุปการศึกษาภายในปี 2566


สำหรับขอบเขตการดำเนินงานภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในครั้งนี้จะมีคณะทำงานและกำกับดูแลการปฏิบัติงานการจัดทำแผนแม่บทโครงการสถานีรถไฟธนบุรีจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทสำเร็จลุล่วงเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด โดย มีแนวทางการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว 4 ด้าน ได้แก่

1. Connectivity Linkage เป็นการสนับสนุนโครงข่ายถนนและทางเดินที่มีการเชื่อมต่อในพื้นที่รอบโครงการกับสถานีรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะ

2. Green Environment สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ด้วยการใช้แนวความคิดพลังงานสะอาด สร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3. Medical Complex สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างครบวงจรและศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช

4. Intregrated Mixed Use Development สนับสนุนการพัฒนาสำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น