xs
xsm
sm
md
lg

ชวนคนอยุธยาหาทางออก สถานีรถไฟความเร็วสูง 10 มี.ค.นี้ หวังจุดร่วมเดินหน้าก่อสร้างควบอนุรักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชิญคนอยุธยาประชุมรับฟังความคิดเห็น ทำรายงาน HIA สถานีอยุธยา โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เช้าวันที่ 10 มี.ค.นี้ ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์อยุธยา หลังกรมศิลปากรห่วงใยการก่อสร้างสถานีใกล้กับพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา มรดกโลก หวังการก่อสร้างเดินหน้าควบคู่อนุรักษ์อย่างเหมาะสม

วันนี้ (1 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ครั้งที่ 1) ต่อการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องกรุงศรีอยุธยา 1 โรงแรมกรุงศรีริเวอร์อยุธยา ต.กะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ได้มีการเชิญชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ตามที่ทางกรมศิลปากรมีข้อห่วงใยในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง ใกล้กับพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก จึงมีความเห็นร่วมกันกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) โดยจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกันหาวิธีลดผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงยังสามารถก่อสร้างและพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อหาจุดเหมาะสมร่วมกันระหว่างผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน


ด้านเฟซบุ๊กเพจ "โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure" โพสต์ข้อความ บางช่วงบางตอนระบุว่า กรมศิลปากรออกมาคัดค้านในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ด้วยเหตุผลการกระทบกับโบราณสถานและมรดกโลก ซึ่งขอให้การรถไฟฯ ทำการศึกษา HIA (ศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถาน) จึงทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดการชะงัก และกลับมาพิจารณากันใหม่ โดยกรมศิลปากรเป็นห่วงในเรื่องความสูงของทางวิ่ง และตัวอาคารสถานี ที่อาจจะสูงมากจนทำให้เป็นทรรศนะอุจาดของเมืองอยุธยาได้

แต่ถ้าดูตามบริบทของพื้นที่ สถานีรถไฟอยุธยา ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสถานีรถไฟความเร็วสูง อยู่นอกเขตเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งจากเขตของมรดกโลก มากกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฯ ได้จ้างที่ปรึกษามาทำการศึกษา HIA (ศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถาน) เพื่อหารูปแบบ และป้องกันผลกระทบในทุกด้านกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน คนอยุธยาช่วยกันออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อจะได้กับสิ่งที่คนอยุธยาต้องการจริงๆ

ทั้งนี้ หลังจากที่กรมศิลปากรมีข้อเป็นห่วงกับการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ก็มีการปรับปรุงรายละเอียดเพื่อลดผลกระทบ โดยจะแก้ไขรายละเอียดสถานีและทางวิ่งช่วงผ่านเมืองอยุธยา คือ ปรับลดคานทางวิ่งของทางรถไฟยกระดับลง จาก 21.62 เมตร เหลือ 17 เมตร และใช้ระยะสูงสุดของอาคารตาม EIA เดิม หลังคากลางอาคารสูงสุดอยู่ที่ 37.45 เมตร ระดับชั้น 3 ชานชาลารถไฟความเร็วสูง 21.62 เมตร ระดับชั้น 2 ชานชาลาพื้นที่ยานตั๋วและรอรถ 12.00 เมตร ระดับชั้น 1 สถานีเดิม ชานชาลารถไฟทางไกล และชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอนาคต 1.50 เมตร

ปรับตำแหน่งเล็กน้อยให้สถานีไม่คร่อมสถานีอยุธยาเดิม ซึ่งเป็นอาคารโบราณขึ้นทะเบียนกรมศิลป์ฯ ปรับแบบอาคารให้เหมาะสมกับพื้นที่ยิ่งขึ้น เช่น เปลี่ยนรูปแบบหลังคาจั่วกลางให้อ่อนลง เข้าตามจั่วทรงไทย ปรับแก้อาคารรับผู้โดยสารฝั่งตรงข้ามสถานีให้เป็นโปร่งมากยิ่งขึ้น และใหญ่ขึ้น พร้อมกับทำลานสำหรับการเชื่อมต่อโหมดการเดินทางตรงข้ามสถานี ซึ่งตอนนี้ก็ทำตามข้อเสนอของกรมศิลปากรในการหารูปแบบที่เหมาะสมในการก่อสร้าง พร้อมกับลดผลกระทบต่อมรดกโลก ตามมาตรฐาน HIA หวังว่าจะพอใจกับทุกฝ่าย และไม่มีใครมาร้องเรียนทำให้โครงการช้าลงไปอีก

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น