xs
xsm
sm
md
lg

กปน.แจงเหตุปัด “วงษ์สยาม” ยันพิจารณาตามระเบียบ-ยึดผลประโยชน์ชาติ ชี้ถูกตีตกเพราะอุปกรณ์ใช้งานไม่ได้ตามสเปก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ การประปานครหลวงยันงานประมูลงานโรงน้ำมหาสวัสดิ์ที่เขี่ย “วงษ์สยามก่อสร้าง” ตก แม้เสนอราคาต่ำกว่า เพราะอุปกรณ์ใช้งานไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ยันคณะกรรมการพิจารณาตามระเบียบ ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ยัน วงษ์สยามก่อสร้าง ทำผิดระเบียบมาแต่ต้น

วันนี้ (24 มี.ค.) นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ยื่นอุทธรณ์การประกาศผลจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรพร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS 5/6-9 วงเงินกว่า 6,526 ล้านบาท ของ กปน. ว่า คณะกรรมการประกวดราคาฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ประกอบตามมาตรา 65 ในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอตามมาตรา 55(1) หรือ (2) ที่ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ โดยพิจารณาถึงประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ และวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญ โดยให้คำนึงถึงเกณฑ์ราคา และพิจารณาเกณฑ์อื่นประกอบ ตามมาตรา 65(2) มาตรฐานของสินค้าหรือบริการและมาตรา 65(6) ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่น “ในกรณีที่กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค และเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 55(2) วรรคสองตามหนังสือจากกรมบัญชีกลางตอบกลับ ด่วนสุดที่ กค (กวจ) 0405/31807 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่มีใจความสำคัญว่า “หาก กปน.จะดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ใหม่ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้แจ้งผลให้ กปน.ทราบ

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว เมื่อ กปน.กลับไปพิจารณาผลการประกวดราคา โดยย่อมต้องพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้องตามเงื่อนไขในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ ที่ กปน.กำหนด และให้เรียงลำดับรายที่คัดเลือกไว้ไม่เกิน 3 ราย” ตามที่การประปานครหลวงได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2565 เรื่อง ขอหารือแนวทางพิจารณาผลการเสนอราคาและแนวทางดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ที่ มท 5450-3-1.2/17914 และคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560”

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นไปตามหนังสือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ด่วนสุดที่ กค(กอร) 0405.5/ว 374 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 หากมีการอุทธรณ์ในประเด็นดังต่อไปนี้ ข้อ 2. กรณีเป็นเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ตามที่กำหนดในมาตรา 115 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดเรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. 2560 ให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือแจ้งผู้อุทธรณ์ว่าเป็นเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ และให้แจ้งด้วยว่า หากผู้อุทธรณ์ประสงค์จะโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว ผู้อุทธรณ์มีสิทธิโต้แย้ง โดยฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากหน่วยงานของรัฐ แต่ทางผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 รายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ในเอกสารประกวดราคางานก่อสร้างขยายกำลังผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ (ข้อเสนอด้านเทคนิคที่ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นสำคัญ)

นายมานิตยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการนี้ กปน.ได้เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนร่างเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิสก์จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 กันยายน-1 ตุลาคม 2564 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม 2564 และได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจยื่นข้อซักถามข้อเสนอแนะแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งในช่วงประกาศประกวดราคา ได้ชี้แจงข้อสอบถาม และแก้ไขให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมโดยเท่าเทียมกัน และประกาศเป็นสาธารณะให้ทราบทั่วกัน ผ่านทางเว็บไซต์การประปานครหลวง และกรมบัญชีกลาง

“แต่ผู้อุทธรณ์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอครั้งนี้ มิได้วิจารณ์ หรือเสนอแนะร่างเอกสารประกาศประกวดราคา และร่างเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ1 เอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ รายการรายละเอียดด้านวิศวกรรม (ข้อเสนอด้านเทคนิคที่ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นสำคัญ) ข้อ 1.1.2 เล่ม 2/8 ใบเสนอราคาและเอกสารแนบท้าย ข้อ 1.1.6 เล่ม 6/8 รายการละเอียดประกอบแบบเพิ่มเติมแต่อย่างใด ดังนั้นผู้อุทธรณ์จึงใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. 2560 ข้อ 2” นายมานิตกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น