xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ปตท.อัดฉีดลุยธุรกิจตั้งเป้าโตรับ ศก.ฟื้น หลังปี 65 กำไรวูบ 4 หมื่นล้าน ลดลง 19%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในปี 2565 เป็นปีวิกฤตซ้อนวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ การปิดประเทศของจีน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก วิกฤตพลังงาน ทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทยอย่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือฯ มีผลประกอบการปี 2565 ปรับตัวลดลง มีเพียง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) หรือ PTTEP และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากอานิสงส์ราคาปิโตรเลียมที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ ปตท.สผ.มีราคาเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ไทยออยล์ก็มีค่าการกลั่นที่สูงขึ้นเช่นกัน

ส่วน บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) แม้ว่าจะมีธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันแต่ส่วนใหญ่นำไปต่อยอดผลิตปิโตรเคมีเป็นหลัก เมื่อวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงและราคาต้นทุนวัตถุดิบสูง ดีมานด์หดจากจีนปิดประเทศ ผนวกกับความกังวลเศรษฐกิจถดถอย ฉุดให้ผลประกอบการปี 2565 ทั้ง 2 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 4,364 ล้านบาท (-130%) และ 8,752 ล้านบาท (-119%) ตามลำดับ ส่วนบริษัทอื่นในเครือ ปตท.ที่เหลือมีกำไรสุทธิเพียงแต่ลดลงมากบ้างน้อยบ้าง กล่าวได้ว่าผลประกอบการปี 2565 ปตท.และบมจ.ในเครือฯ มีกำไรสุทธิรวมลดลง 4 หมื่นกว่าล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2564 หรือต่ำลง 19% จากปีก่อน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้เศรษฐกิจโลกมีความท้าทายอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย อันนำไปสู่การคว่ำบาตรและการตอบโต้เพิ่มเติม ทำให้มีการประเมินว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีนี้คาดว่าจะโตขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 101.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้ในประเทศจีนภายหลังเปิดประเทศ และราคาน้ำมันดิบในปีนี้เฉลี่ย 81-86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์เฉลี่ย 8-9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังมีปัจจัยเสี่ยงจากกำลังการผลิตใหม่ในภูมิภาคเอเชียที่เข้าสู่ตลาด และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ กดดันให้ราคาโอเลฟินส์ในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีก่อน คาดว่าราคา HDPE และ PP จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,120-1,170 เหรียญสหรัฐต่อตัน และ 1,050-1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ซึ่งการยกเลิกนโยบายการจัดการโควิด-19 เป็นศูนย์ของจีน ทำให้มีการเริ่มทยอยเก็บสต๊อกสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่วนราคากลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในปี 2566 ก็มีแนวโน้มปรับลดลงเช่นกัน โดยราคาเบนซีนและพาราไซลีนจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 940-990 เหรียญสหรัฐต่อตัน และ 1,040-1,090 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 1/2566 คาดว่าปตท.จะมีผลดำเนินงานดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ฟื้นตัวขึ้นจากต้นทุนน้ำมันดิบพรีเมียม คาดว่าไตรมาส 1 นี้การขาดทุนสต๊อกน้ำมันที่ลดลง ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกันจากต้นทุนที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็ยังมีบทบาทสำคัญที่สร้างผลกำไรให้กับ ปตท. แม้ว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้อาจสู้ปีที่แล้วไม่ได้ก็ตาม แต่ ปตท.สผ.ก็มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีโอกาสเห็นการ M&A ทำให้บริษัทรับรู้รายได้และกำไรทันที รวมทั้งธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น รวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็มีทิศทางที่ดีขึ้นจากปี 2565

สำหรับปี 2565 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 91,175 ล้านบาท ลดลง 17,188 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 จากปีก่อน แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากธุรกิจสำรวจและผลิตที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นตามราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานในตลาดโลก และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงจากต้นทุนก๊าซฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จากการนำเข้า Spot LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซในประเทศ และธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีผลการดำเนินงานลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ราคาปิโตรเคมีปรับลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย


ปตท.สผ.ตั้งเป้าโตจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น

บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. มีผลดำเนินงานโดดเด่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากราคาปิโตรเลียมที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น คาดว่าปีนี้ก็จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 1/2566 ปตท.สผ.คาดการณ์ว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมจะอยู่ที่เฉลี่ย 472,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มาจากการรับรู้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายก๊าซฯ จากโครงการจี1/61(แหล่งเอราวัณ) ที่ผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากปี 2565 ปตท.สผ.ได้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตเสร็จสิ้น 8 แท่น สามารถผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นแตะ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และดีดเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี 2566 และมั่นใจว่าโครงการจี1/61 สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567

ส่วนราคาก๊าซฯ ในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.1 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยในช่วงไตรมาส 1/2566 ราคาก๊าซฯ จะอยู่ที่ 6.7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งปีนี้ปตท.สผ.วางเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีปริมาณขายปิโตรเลียม 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปตท.สผ.คงเดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่มเติมเน้นกลุ่มประเทศเป้าหมายที่มีฐานการผลิตเดิมไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย มาเลเซีย เมียนมา และภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโอมาน

การลงทุนในไทย นอกเหนือจากการเร่งผลิตก๊าซฯ ในโครงการเอราวัณให้ได้ตามแผนงานแล้ว ปตท.สผ.ได้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 ซึ่งบริษัทประเมินว่าเป็นแปลงที่มีศักยภาพและอยู่ใกล้กับแท่นผลิตของปตท.สผ.ในปัจจุบัน คาดว่าจะรู้ผลภายในไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนมาเลเซีย ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการสำรวจและจะเร่งพัฒนาหลายแปลง หลังพบว่ามีศักยภาพก๊าซฯ เพียงพอในการพัฒนาโครงการ ได้แก่ โครงการลัง เลอบาห์ ในโครงการซาราวัก เอสเค 410บี นอกชายฝั่งประเทศมาเลเซียที่จะเริ่มผลิตก๊าซฯ ออกมาได้ภายในปี 2570

ทั้งนี้ ในปี 2566 ปตท.สผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 5,481 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 191,818 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการแหล่งปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีแผนการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการผลิตต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 เช่น โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) เป็นต้น ในส่วนนี้ยังไม่รวมกับแผนควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณา กอปรกับการปรับพอร์ตโครงการลงทุน โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ใช่เป้าหมาย ปตท.สผ.จะลดบทบาทหรือขายการลงทุนไปดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การขายการลงทุนในแหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย และการขายเงินลงทุนทั้งหมดในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่บราซิล ล่าสุด ปตท.สผ.อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะขายหรือหาพาร์ตเนอร์ร่วมทุนในโครงการแคชเมเปิล ที่ออสเตรเลีย เป็นต้น

พร้อมทั้งสำรองงบประมาณในการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ใน 5 ปีข้างหน้านี้อีก 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 166,052 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมถึงธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทมีอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน


TOP ลุ้นปีนี้โตขึ้น ยันค่าการกลั่นยังอยู่ในเกณฑ์ดี

บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ในปีนี้ผลประกอบการดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ว่าไม่มีกำไรพิเศษ โดยปีนี้ค่าการกลั่น (GRM) สิงคโปร์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีระดับ 8-9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในแถบเอเชียเติบโตสูงขึ้นอย่างชัดเจนหลังจีนเปิดประเทศ โดยความต้องการใช้น้ำมันทุกผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 ทำให้บริษัทเดินเครื่องโรงกลั่นเต็มที่ โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน (Jet) ที่จะมีปริมาณการใช้เติบโตขึ้นมากจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมัน Jet จะกลับมาสู่ระดับก่อนช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2566 ส่วนตลาดน้ำมันดีเซลก็กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเริ่มลดลง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อไปทดแทนก๊าซฯ ไปผลิตไฟฟ้าก็ลดลงไปด้วย

ส่วนทิศทางปิโตรเคมีในปีนี้ส่วนของสารอะโรเมติกส์ยังอยู่ในภาวะล้นตลาดเช่นเดียวกับตลาดโอเลฟินส์ ที่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามามากกว่าความต้องการใช้ เป็นปัจจัยที่กดดันมาร์จิ้นอยู่ แต่หากเปรียบเทียบกับปีก่อนถือว่าฟื้นตัวดีขึ้นมากหลังจากจีนเปิดประเทศ ทำราคาปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นผลประกอบการไทยออยล์ในปีนี้มีแนวโน้มที่ดีจากค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM) ที่ยังอยู่ระดับที่ดีอยู่

ความคืบหน้าโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวันนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2568 ซึ่งล่าช้าออกไป 2 ปีจากผลกระทบโควิด-19 เช่นเดียวกับโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) ทาง PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ในอินโดนีเซีย ได้ตัดสินใจชะลอการตัดสินใจในการลงทุนออกไปก่อนประมาณ 6-12 เดือน เพื่อประเมินสถานการณ์ธุรกิจอีกครั้งหลังจากที่ผ่านมาตลาดโอเลฟินส์ไม่ดี

ทั้งนี้ ไทยออยล์วางงบลงทุนในปี 2566-2568 อยู่ที่ 991 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อใช้ลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) วงเงิน 553 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์ 112 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการอื่นของบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างดําเนินการต่อเนื่องตามแผนงาน รวมทั้งยังแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆด้วย


OR ลั่นปีนี้ยอดขายน้ำมันโตรับท่องเที่ยวฟื้น

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า บริษัทมียอดขายน้ำมันในปี 2566 เติบโตกว่าปีก่อนตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยที่คาดว่าจะเติบโต 3.7% และความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน (Jet) หลังจากมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ทำให้มั่นใจว่าปลายปีนี้ยอดขาย Jet จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่ง OR มีมาร์เกตแชร์ยอดขายน้ำมันอากาศยานประมาณ 49% ราว 1,600 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมที่อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท

โดยปีนี้ OR ได้เตรียมงบลงทุนจำนวน 31,197 ล้านบาท มุ่งเน้นการขยายและสร้างความแข็งแกร่งของ Business Value Chain ของกลุ่มธุรกิจ Lifestyle โดยวางงบลงทุนไว้ที่ 14,193 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 45% ของงบลงทุน สำหรับขยายสาขาร้าน Café Amazon โดยวางแผนที่จะขยายเพิ่ม 400 แห่ง และร้าน Texas Chicken ราว 12 แห่ง รวมไปถึงการแสวงหาพันธมิตรและการลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ นอกจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) บริษัทยังให้ความสำคัญในกลุ่มธุรกิจด้าน Health & Wellness และ Tourism ด้วย

ส่วนกลุ่มธุรกิจ Mobility มุ่งรักษาความเป็นผู้นำใน Mobility Ecosystem มีแผนขยายสาขา PTT Station ราว 100 แห่ง และ EV Station PluZ จำนวน 500 แห่งรวมเป็น 800 แห่ง รวมไปถึงการลงทุนใน Green Energy เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของแหล่งพลังงาน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 6,799 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของงบลงทุน

กลุ่มธุรกิจ Global ยังคงมุ่งขยายการลงทุนในการเปิด PTT Station และ Café Amazon ผ่านบริษัทในเครือในต่างประเทศ โดยปีนี้จะเน้นการลงทุนในกัมพูชามากขึ้น พร้อมกับแสวงหาโอกาสในการลงทุนในประเทศใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 4,954 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของงบลงทุน ส่วนกลุ่มธุรกิจ OR Innovation มุ่งแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจในปัจจุบัน รวมทั้งนวัตกรรมเพื่อพัฒนาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 5,251 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของงบลงทุน


PTTGC โต 15% ชี้จีนเปิด ปท.ดันราคาปิโตรเคมีขึ้น

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า ในปีนี้ PTTGC จะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นกว่าปีก่อนที่มีรายได้จากการขายรวม 678,267 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 8,752 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีปริมาณกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2565 มาจากโรงงานใหม่ทยอยผลิตเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก PP สายการผลิตที่ 4 ของบริษัทเอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ และโรงงานผลิตพลาสติกวิศวกรรมขั้นสูงของบริษัทร่วมทุน คือบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด ที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2566 โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) ทำให้สามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้น คาดว่าผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/2566 เช่นกัน

รวมทั้ง allnex ที่รับรู้รายได้เต็มปี ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นของบริษัทก็ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงเหมือนปี 2565 รวมทั้งยังรับรู้รายได้จากการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ PVC ในบริษัท AGC Vinythai หรือ AVT ที่เราถือหุ้นประมาณ 32%

ปัจจุบันราคาปิโตรเคมีเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นโดยเฉพาะอะโรเมติกส์หลังจากจีนเปิดประเทศมีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น ส่วนธุรกิจการกลั่นแนวโน้มก็ยังดีอยู่แม้ว่ามาร์จิ้นการกลั่นจะปรับลดลงมาบ้างในช่วงนี้ ดังนั้นบริษัทอาจจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในปีนี้เติบโตสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เฉลี่ยโตปีละ 4% ในช่วงปี 2566-2573 สืบเนื่องจากปี 2565 บริษัทมี EBITDA อยู่ที่ 22,420 ล้านบาท ลดลง 63% จากปี 2564

ลุ้น Q1 ไออาร์พีซีพลิกมีกำไร


บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) มองแนวโน้มธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปี 2566 มีความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะสูงขึ้นเท่ากับช่วงก่อนการระบาดโควิด ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีมีความต้องการของตลาดจะเติบโต 1.5-2.0% จากความต้องการจากจีนตามนโยบายเปิดประเทศ ซึ่งในไตรมาส 1/2566 คาดว่าผลการดำเนินงานปกติจะพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ เนื่องจากโรงกลั่นจะกลับมาเดินเครื่องตามปกติเฉลี่ยราว 2 แสนบาร์เรลต่อวัน

ไออาร์พีซีตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้ (2566-2570) กว่า 36,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการต่อยอดจากธุรกิจปัจจุบันเข้าสู่ 5 กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง คือ Health and Life Science, Advance Material, Circular Business, Future Energy และ Energy Storage โดยอาศัยนวัตกรรมของบริษัทผนวกกับความเชี่ยวชาญของพันธมิตร เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมวัสดุและพลังงานอย่างยั่งยืน (Material and Energy Solution) โดยตั้งเป้ามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่ที่ 35,000 ล้านบาทในปี 2573

ในปี 2566 ไออาร์พีซีตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (UCF) คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2567 และขยายกำลังการผลิตโครงการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (non-woven fabric) วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ของบริษัทร่วมทุน “อินโนโพลีเมด” ที่เปิดเดินเครี่องเชิงพาณิชย์เมื่อไตรมาส 4/2565 รวมทั้งแสวงหาโอกาสการทำ M&A ในธุรกิจเป้าหมาย


GPSC วางเป้า COD ไฟฟ้าเพิ่ม 350 เมกะวัตต์

สำหรับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้วางเป้าหมายเพิ่มยอดขายไฟฟ้าในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ประเภทกลุ่มไฟฟ้าโตขึ้น 10% และกลุ่มลูกค้าไอน้ำเพิ่ม 3% จากปี 2565 ที่มีปริมาณการไฟฟ้ารวม 13,148 GWh และมีปริมาณการขายไอน้ำรวมอยู่ที่ 14,509 GWh ขณะที่ต้นทุนราคาก๊าซฯและถ่านหินได้ปรับตัวลงส่งผลดีต่อบริษัท รวมถึงการขึ้นค่า Ft ที่จะช่วยให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 1.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% และกำไรสุทธิ 891 ล้านบาท ลดลง 88% จากปี 2564

นอกจากนี้ GPSC จะทยอยรับรู้การผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติมในปี 2565 กว่า 350 เมกะวัตต์ มาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย (AEPL) ที่บริษัทถือหุ้น 42.93% โดยมี 7 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขนาดกำลังผลิต 792 เมกะวัตต์ ทยอยเสร็จในปี 2566-2567 และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน Changfang และ Xidao (CFXD) พร้อมทั้งศึกษาการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 300 เมกะวัตต์

หนึ่งในนั้นคือ บริษัทยังอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศผลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากมีโครงการโรงไฟฟ้าของ GPSC ได้ผ่านคุณสมบัติ และเทคนิคแล้ว โดยในปีนี้ GPSC ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 15,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลต่อราคาพลังงาน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ฯลฯ จึงต้องวางแผนเตรียมพร้อมรับมือเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น