xs
xsm
sm
md
lg

IRPC แจงปี 65 ขาดทุน 4.4 พันล้าน ชี้ภาพรวมธุรกิจปีนี้ปรับตัวดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



IRPC กระอักปี 65 ขาดทุน 4,364 ล้านบาท เหตุสถานการณ์ราคาพลังงานและวัตถุดิบผันผวน วัฏจักรปิโตรเคมีดิ่ง พร้อมรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจ เพิ่มความระมัดระวังความผันผวนของราคาพลังงาน คาดการณ์ปี 66 ภาพรวมธุรกิจปรับตัวดีขึ้นทั้งธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ในปี 2565 นับเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากจากสถานการณ์ผันผวนภายนอกหลากหลายด้านพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความยืดเยื้อของความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ นโยบาย Zero-Covid ในประเทศจีน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก วิกฤตพลังงาน ส่งผลให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมถึงส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงอย่างมาก

ทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิในปี 2565 อยู่ที่ 318,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปี 2564 จากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมากที่เฉลี่ย 96.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปี 2564 ราคาเฉลี่ยที่ 69.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปริมาณขายลดลงร้อยละ 8 โดยมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 9 จากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่นตามแผน (Major Turnaround) ในไตรมาส 4/2565 ประมาณ 1 เดือน ประกอบกับส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวลดลงและต้นทุน Crude Premium สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตราคาตลาด (Market GIM) จำนวน 23,761 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20

อย่างไรก็ดี ความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบช่วงปลายปี ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึก Net Inventory Loss รวม 6,348 ล้านบาท หรือ 2.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนที่มี Net Inventory Gain 11,104 ล้านบาท หรือ 4.92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 17,413 ล้านบาท หรือ 7.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 23,279 ล้านบาท หรือ 10.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 3,987 ล้านบาท ลดลง 22,974 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 85 และผลประกอบการปี 2565 บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ จำนวน 4,364 ล้านบาท

นายกฤษณ์กล่าวอีกว่า ผลดำเนินงานช่วงไตรมาส 4/2565 นั้น บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 55,081 ล้านบาท ลดลง 32,231 ล้านบาท หรือร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 6 และปริมาณขายลดลงร้อยละ 31 อันเป็นผลมาจากอัตราการผลิตลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่น โดยราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 2,609 ล้านบาท (6.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ลดลงร้อยละ 42 และมีการบันทึก Net Inventory Loss รวม 6,816 ล้านบาท หรือ 17.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุน EBITDA จำนวน 7,836 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 7,149 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2565 ในอัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 1,430 ล้านบาท โดยจะเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 5 เมษายน 2566 ต่อไป

ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ด้วยแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจจากความเชี่ยวชาญในธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัวของโครงสร้างองค์กร โดยบริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษมูลค่าสูง (Specialty Product) ร้อยละ 22 จากเป้าเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเป็น 55% ในปี 2573, การเปิดโรงงานบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven fabric) วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังขยายกำลังการผลิตอีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายการลงทุนโครงการพีพี เมลต์โบลน (PP Meltblown) 40,000 ตันต่อปี ที่มีกำลังผลิตสูงสุดในประเทศ และโครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี สปันบอนด์ (PP Spunbond) 190,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขอนามัย โครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพีอาร์ (PPR: PP Random Copolymer Pipe) 80,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตท่อน้ำร้อนน้ำเย็นที่ไร้สารทาเลตเป็นรายแรกของภูมิภาค และโครงการผลิต เอชดีพีอี 100 - อาร์ซี (HDPE100 - RC) 40,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตท่ออุตสาหกรรมที่มีอายุการใช้งานได้นานถึง 100 ปี ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการก่อสร้าง

บริษัทฯ ร่วมมือกับ บริษัท พี.ซี สยามปิโตรเลียม จำกัด เปิดคลังน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาด 50 ล้านลิตร พร้อมรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจภาคใต้ รวมทั้งความสำเร็จในการซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่นในรอบ 5 ปี ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซล ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project หรือ UCF) ที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในต้นปีหน้า

นายกฤษณ์กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมยังต้องปรับตัวเตรียมพร้อมกับข้อจำกัดทางการค้าในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 20% ภายในปี 2573 จากปีฐาน 2561 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2603

สำหรับแนวโน้มธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปี 2566 นั้น คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะสูงขึ้นเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ขณะที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและพันธมิตรมีนโยบายปรับลดการผลิตลงเดือนละ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปถึงสิ้นปี 2566 เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีในปี 2566 คาดว่าความต้องการของตลาดจะเติบโตร้อยละ 1.5-2.0 โดยเฉพาะความต้องการจากจีนตามนโยบายเปิดประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการลงทุนจากภาครัฐ และส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี


กำลังโหลดความคิดเห็น