“ส.อ.ท.” เปิดต้นตอค่าไฟฟ้าแพงจากสัดส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนเมื่อเทียบกับ กฟผ.มีสัดส่วนที่มากเกินไป มีผลให้ค่าไฟแพงจากค่าความพร้อมจ่าย กฟผ.แบกหนี้รายเดียว เสนอ 3 ทางแก้ค่าไฟระยะกลางและยาว ทั้งให้หยุดขยายโรงไฟฟ้า ซื้อโรงไฟฟ้าเอกชนมาเป็นของรัฐ ปรับสูตรค่าไฟค่าก๊าซฯ ใหม่
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาแพง เป็นผลจากการให้โรงไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินไปเมื่อเทียบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่ปัจจุบันสัดส่วนน้อยลงเหลือ 32% ขณะที่โรงไฟฟ้าภาคเอกชนขนาดใหญ่ IPP มีสัดส่วน 31% ขนาดเล็ก SPP 17% และนำเข้าและแลกเปลี่ยน 12% และขนาดเล็กมาก หรือ VSPP 8% กำลังการผลิตตามสัญญา ณ ต.ค. 2565
ผลดังกล่าวได้ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจาก 1. ค่าความพร้อมจ่าย หรือ AP (จ่าย IPP) และค่าพลังไฟฟ้า CP (จ่าย SPP) ตามสัญญาเสือนอนกินที่ยังไม่มีใครแก้ไข 2. กฟผ.แบกรับภาระหนี้ค่าไฟฟ้าเพียงรายเดียว (จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องแบกภาระช่วยกลุ่มเปราะบางตามนโยบายภาครัฐ) เกินกำลังที่มีอยู่ ขณะที่ภาครัฐไม่สามารถบังคับให้โรงไฟฟ้าเอกชนช่วยได้เลย 3. กฟผ.ขาดสภาพคล่องเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าเอกชนมีกำไรสูงมาก โดยประชาชน และภาคธุรกิจจ่ายค่าไฟฟ้าแพงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งนี้สะท้อนนโยบายที่ผิดพลาดของภาครัฐหรือไม่?
ทั้งหมดนี้จึงมีข้อเสนอในระยะกลาง/ระยะยาวต้องรื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดย 1) หยุดขยายโรงไฟฟ้าเพื่อลดกำลังการผลิต ส่วนเกิน 2) ซื้อโรงไฟฟ้าเอกชนมาเป็นของภาครัฐ 3) ปรับสูตรค่าไฟฟ้า/ค่าผ่านท่อของก๊าซธรรมชาติ หรือ NG โดยลด IRR จาก 18% ลงเพราะไม่มีความเสี่ยง ทำไมต้องมีกำไรสูง และให้ลดค่า Margin จากการขาย NG ของ SPP 9.33% ให้ใกล้เคียง กับ IPP 1.75% 4. ทบทวนค่า NG ที่นำไปใช้ในภาคปิโตรเคมีทั้งๆ ที่เป็น NG มีคุณภาพสูง
“ตอนนี้มีบางพรรคเองก็เสนอให้ซื้อโรงไฟฟ้าเอกชนกลับมาเป็นของภาครัฐเพราะเราจ่ายเงินให้ไปอยู่แล้วในค่าเอพี การซื้อคืน รัฐจะได้มี assets เป็นโรงไฟฟ้า และมีฐานในการช่วยควบคุมค่าไฟฟ้าได้มากขึ้น” นายอิศเรศกล่าวย้ำ