xs
xsm
sm
md
lg

1 ปีเศรษฐกิจไทยกับ "สงครามรัสเซีย-ยูเครน" บทเรียนราคา (พลังงาน) แพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมาครบรอบ 1 ปี แน่นอนว่าตลอดระยะเวลาของความขัดแย้งที่มาพร้อมกับมาตรการแซงก์ชัน (sanction) ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก แต่การสู้รบที่ล่าสุดยังคงไม่มีวี่แววจะยุติลงและอาจจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำไปนั้น …สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธที่คนไทยได้รับผลกระทบเต็มๆ ในช่วงที่ผ่านมาคือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากวัตถุดิบต่างๆ ที่มีราคาแพงไปจนถึงราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ค่าไฟ ค่าก๊าซฯ จนทำให้ราคาสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคต่างพาเหรดกันขยับราคา...จนควักจ่ายกันมือระวิง

แต่ที่หนักหนาสาหัสหนีไม่พ้นราคาพลังงานที่พุ่งสูงชนิดแบบส่งจรวดขึ้นฟ้า ... ราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 กว่าเหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลและทำสถิติกันเป็นว่าเล่น ...รัฐบาลเลยต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ก่อนจะขยับเพดานมาไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรในวันที่ 1 พ.ค. 65 ….ควบคู่ไปกับการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเป็นระยะรวม 6 ครั้ง (ครั้งล่าสุดขยายลดภาษีฯ 5 บาทต่อลิตรจนถึง 20 พ.ค. 66) รวมเม็ดเงินที่คลังสูญรายได้ราว 1.38 แสนล้านบาท
ขณะที่ภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่ตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้แตะระดับสูงสุดถึง 1.2 แสนล้านบาท แม้ว่าฐานะปัจจุบันเริ่มดีขึ้นเพราะราคาน้ำมันตลาดโลกอ่อนตัวลงและดีเซลขายปลีกในไทยจะมีการปรับลดลงมาสู่ระดับ 34 บาทต่อลิตรในวันที่ 22 ก.พ. 66 นี้แต่ภาระหนี้กองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 12 ก.พ. 66 ยังคงติดลบ 108,610 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 62,895 ล้านบาท LPG ติดลบ 45,715 ล้านบาท

ขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ตลอดปี 2565 ค่า Ft ปรับขึ้นตั้งแต่งวดแรก (ม.ค.-เม.ย. 65) ต่อเนื่องจนถึงงวดสุดท้ายของปี (ก.ย.-ธ.ค. 65) ทำให้ค่าไฟเฉลี่ยมาแตะที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และล่าสุดค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ที่กลายเป็น 2 อัตราโดยค่าไฟบ้านที่อยู่อาศัยคงที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และค่าไฟประเภทอื่นๆ (ธุรกิจ อุตสาหกรรมบริการ ฯลฯ) เฉลี่ยที่ 5.33 บาทต่อหน่วยที่เอกชนถึงขั้นต้องออกมาโวยวายครั้งใหญ่....โดยค่าไฟเหล่านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงไว้ก่อนราวแสนล้านบาท …รวมๆ เงินที่ต้องอุ้มกว่า 2 แสนล้านที่ยังไม่รวมมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบางอื่นๆ อีก แต่ภาระกองทุนน้ำมันฯ และ กฟผ.เหล่านี้ประชาชนต้องทยอยจ่ายคืนทั้งสิ้น

ดังนั้น ท่ามกลางสงครามที่ยังไม่แน่นอน และการเมืองของไทยที่กำลังปรับสู่โหมดเลือกตั้ง ... เอกชนมีมุมมองอย่างไรในเรื่องนี้ ลองมาฟังกันดู


สงครามตอกย้ำพลังงานแพง โซลาร์ฯ ทางรอด

นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดราก้อนเอ็นเนอร์จี เทคโนโลยีแอนด์ออแกไนท์เซอร์ จำกัด กล่าวว่า ปี 2566 การติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์รูฟท็อปยังคงร้อนแรงต่อเนื่องด้วยปัจจัยที่ค่าไฟฟ้าแพงทะลุ 4-5 บาทต่อหน่วย จึงทำให้การติดตั้งมีความคุ้มทุนเร็วขึ้นจากเฉลี่ย 5-6 ปีเหลือเพียง 3-4 ปี

“สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้แผงโซลาร์และอุปกรณ์ต่างๆ มีราคาแพงขึ้นบ้าง แต่หากเทียบกับค่าไฟที่แพงการติดตั้งก็ยังคุ้มค่าอยู่มาก ประชาชนและภาคธุกริจโรงงานจึงหันมาติดตั้งสูงมากเพื่อลดรายจ่ายและต้องการพึ่งพาตนเองและผมก็เห็นว่ารัฐควรจะสนับสนุนให้มากขึ้นแทนที่เราจะไปเสียดุลการนำเข้าพลังงานในปริมาณที่สูงมาก และอีกส่วนยังเป็นความมั่นคงด้วยเพราะคิดว่าสงครามคงยังยืดเยื้อและโซลาร์ฯ เป็นทางรอดและจำเป็นไม่ใช่แค่เทรนด์” นายพลกฤตกล่าว

ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาบริหารจัดการซึ่งทำให้มีการร่นระยะเวลาการพิจารณาคำขอและดำเนินงานต่างๆ ได้เร็วขึ้นมาก แต่ปัญหาของพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าต้องมองทั้งโครงสร้างซึ่งไม่ง่ายนักที่จะแก้ไข แต่อย่างน้อยเราก็คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่มาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งจากการติดตามเห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองได้มีการชูนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับโซลาร์มากขึ้นเกือบทุกพรรค บางพรรคมีนโยบายชัดเจนและมีรายละเอียดพอสมควรซึ่งหากทำได้จริงก็จะเป็นประโยชน์

อย่างไรก็ตาม มาตรการ Net Metering หรือระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ ระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาของเรากับไฟฟ้าที่เราใช้จากการไฟฟ้า (Grid) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะเสียค่าไฟตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้วล่าสุดกระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะอาจขัดระเบียบบางอย่าง ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรจะมีการเพิ่มอัตรารับซื้อไฟภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนจากขณะนี้อยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วยเป็นราว 3-4 บาทต่อหน่วยให้ใกล้เคียงกับค่าไฟที่ประชาชนจ่ายเพื่อจูงใจ การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการส่งเสริมการติดตั้งให้มากขึ้น รวมถึงฝากรัฐบาลใหม่ในการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่ควรเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟจากโซลาร์ทุกประเภทให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน เป็นต้น

ส.อ.ท.มองสงครามไม่จบง่าย ไทยต้องวางสมดุล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมาจะครบรอบ 1 ปีนั้นเป็นเพียงฉากเริ่มต้นของสงครามเพราะที่ผ่านมาเป็นการหยั่งเชิงกัน แต่คาดว่าหลังจากผ่านช่วงฤดูหนาวนี้ไปแล้วรัสเซียและยูเครนจะยกระดับการทำสงคราม โดยล่าสุดรัสเซียได้เพิ่มการใช้ขีปนาวุธและโดรนไร้คนขับโจมตีระบบสาธารณูปโภคสำคัญในหลายพื้นที่ของยูเครนมากขึ้น รวมทั้งมีแผนเพิ่มกำลังพลผ่านการเกณฑ์ทหาร ส่วนฝั่งขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ก็ระดมกำลังช่วยยูเครนเต็มที่เช่นกัน

“ทั้งโลกคงหมดหวังกับสันติภาพที่มีแสงริบหรี่ หากวิเคราะห์จากท่าทีของทั้งสองฝั่ง และผลกระทบจากสงครามที่ยืดเยื้อแล้วก็คงเป็นไปเหมือนหนึ่งปีที่ผ่านมาจากนี้ไป และอาจพัฒนาไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็เป็นไปได้เพื่อให้สงครามปิดฉากได้เร็วขึ้นหรือไม่ก็คงต้องติดตาม” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อไทยหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ชัดเจนคือต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยที่สูงตามมา โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นต่อเนื่องและล่าสุดโครงสร้างค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ฯลฯ งวด ม.ค.-เม.ย. 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วยถือว่าเป็นอัตราที่สูงมากหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจะมีผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศและการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังย้ายฐาน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องทบทวนโครงสร้างราคาที่เป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนโดยเฉพาะการลดการพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพงจากต่างประเทศ

“อุตสาหกรรมเราเจอต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งรวมถึงค่าไฟท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย การส่งออกเราเห็นชัดว่าชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีก่อนต่อเนื่อง และสิ่งที่น่ากังวลเมื่อจีนเปิดประเทศมาเมื่อตลาดหลักๆ ชะลอสินค้าบางส่วนจะเข้ามาทำตลาดในอาเซียนรวมถึงไทยเราก็ต้องแข่งกับสินค้าจีนลำบากขึ้น ด้วยต้นทุนที่สูงไม่อาจสู้ราคาได้ เศรษฐกิจเราจะลำบากแม้ว่าจะมีท่องเที่ยวมาช่วยก็ตาม” นายเกรียงไกรกล่าว

เขากล่าวสรุปว่า เศรษฐกิจไทยปี 66 มีปัจจัยเสี่ยงมาก การแบ่งขั้วอำนาจการเมืองของโลกจะชัดเจน ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์หรือ Geopolitics ดังนั้นรัฐบาลไทยโดยเฉพาะชุดใหม่ต้องทบทวนและหาแนวทางวางสมดุลหรือ balance น้ำหนักให้ดี โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ที่ไม่ควรพึ่งพาชาติใดชาติหนึ่งเกินไป ต้องกระจายความเสี่ยง เพื่อให้ไทยรอด


“กลุ่มรถยนต์” กังวลสงครามยืดเยื้อ ศก.ถดถอย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน ต่อเนื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่ผ่านมา และมีผลต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆ ได้คลี่คลายลงหลังจากโควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้นทำให้การทำงานอยู่บ้าน (WFH ) เหลือน้อยซึ่งมีผลให้ความต้องการคอมพิวเตอร์ลดลงซึ่งเป็นตัวแปรให้ชิปป้อนสู่ภาคยานยนต์ได้เพิ่มขึ้น

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนเองได้ทำให้ชิปขาดแคลนมากขึ้นเพราะรัสเซียส่งออกแร่สำคัญในการผลิต ขณะเดียวกันยังมีผลต่อต้นทุนการผลิตที่ทำให้ราคาพลังงานต่างๆ สูงขึ้น และการสู้รบที่ยืดเยื้อเรายังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่เรากังวลคือจะขยายวงกว้างขึ้นซึ่งอันนี้คงประเมินไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป” นายสุรพงษ์กล่าว

ปี 2566 กลุ่มรถยนต์ ส.อ.ท.ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ไว้ที่ 1.95 ล้านคัน โตจากปี 2565 ที่ผลิตได้ 1.88 ล้านคัน เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่ดีแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 อาจจะไม่ได้เติบโตมากเหมือนก่อนหน้าที่เคยประเมินไว้เนื่องจากส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบจากตลาดหลักๆ ที่ถดถอยทั้งสหรัฐฯ และยุโรป แต่อาศัยว่าไทยมีการท่องเที่ยวมาช่วยขับเคลื่อนโดยเฉพาะจากการที่จีนเปิดประเทศ ที่ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อย่างน้อยจะมีเข้ามาได้ไม่ต่ำกว่า 28 ล้านคน ประกอบกับไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่เม็ดเงินส่วนนี้ก็คงจะมาช่วยขับเคลื่อนได้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพของคนไทยและต้นทุนภาคธุรกิจไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นจุดเปราะบางต่อเศรษฐกิจไทยที่จะฉุดให้กำลังซื้อโดยรวมไม่ดีนักซึ่งจะกระทบมายังภาคผลิต ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรก็คงจะต้องฝากฝีมือไว้กับรัฐบาลชุดใหม่เป็นสำคัญ

สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ดูเหมือนจะทำให้การเมืองระดับโลกร้อนแรงขึ้น...เศรษฐกิจโลกก็เห็นแววถดถอยจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ดูจะเอาไม่อยู่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก....ศก.ไทยจึงมีสารพัดปัจจัยรุมเร้าปัญหาต่างๆ รวมถึงราคาพลังงานแพง การแก้ไขที่โครงสร้างแบบยั่งยืนไม่ใช่แก้ผ้าเอาหน้ารอดก็คงหวังยาก ...เพราะกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งแต่หวังระยะสั้นในการหาเสียงมีลุ้นสูง!!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น