xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวฟื้นดันดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ม.ค.สูงสุดรอบ 43 เดือน ชง 4 ข้อรัฐเร่งดูแลหนุน ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประเดิม ม.ค. 66 แตะ 93.9 สูงสุดในรอบ 43 เดือนนับตั้งแต่ มิ.ย. 62 หลังอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว จีนเปิดประเทศ แต่ยังกังวลต้นทุนที่บั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขัน แนะรัฐบาลปัจจุบันและฝากถึงรัฐบาลใหม่เร่งดูแล 4 ปัจจัย ทั้งค่าไฟงวดใหม่ควรลดลง ดอกเบี้ยที่สูงให้ดูแล SMEs เร่งทำข้อตกลง FTA และดูแลค่าบาทไม่ให้ผันผวน หนุน 34-34 บาทกว่าต่อเหรียญเหมาะสม

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2566 ว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.6 ในเดือนธันวาคม 65 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 43 เดือนนับตั้งแต่มิถุนายน 62 เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการช้อปดีมีคืน ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่ การเปิดประเทศของจีนที่ส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวและการนำเข้าสินค้าจากไทย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลถึงทิศทางการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่อดีตไทยมีเม็ดเงินจากส่วนนี้สูงถึง 30-35% ของจีดีพีแต่ขณะนี้เหลือเพียง 15% จึงถือเป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อเศรษฐกิจไทย จึงต้องการเสนอให้ภาครัฐทั้งรัฐบาลปัจจุบันและรวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ดูแลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยและการดึง FDI เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น เวียดนามที่เพิ่มขึ้นมากใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 66) ที่ควรจะปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากมีปัจจัยบวกที่คำนวณต้นทุนที่ลดต่ำทั้งบาทที่แข็งค่าขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าที่อ่อนตัว ฯลฯ ซึ่งค่าไฟเฉลี่ยเมื่อเทียบกับเวียดนามแล้วไทยยังคงสูงกว่าพอสมควร

2. มาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ยังมีปัญหาสภาพคล่องและขาดเงินทุนหมุนเวียนให้เข้าถึงแหล่งทุน เนื่องจากพบว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีนโยบายที่จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% 2 ครั้งจะทำให้ ดบ.เงินกู้สูงขึ้นอีก ซึ่งเป็นภาระต้นทุนทางการเงินอย่างมาก

3. เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ที่ได้เปรียบไทยเรื่องสิทธิทางภาษีต่างๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) และ FTA ระหว่างไทย-GCC (กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ) ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้จัดทำ FTA ไทย-อียูตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ จึงต้องการให้มีการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม

4. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ไม่ควรผันผวนจนเกินไปและต้องการให้มองทั้งผู้นำเข้าและส่งออกให้สมดุลกัน ซึ่งพบว่าต.ค. 65 ค่าเงินบาทอยู่ราว 38.08 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ ก.พ. 66 มาอยู่ที่ราว 32.88 บาทต่อเหรียญ ถือว่าผันผวนค่อนข้างมาก และหากพิจารณารายละเอียดเป็นการไหลเข้ามาของทุนต่างชาติที่มาเก็งกำไรซึ่งสิ่งนี้ไม่น่ายินดีนัก ดังนั้น บาทที่สมดุลควรอยู่ที่ราว 34-34 บาทกว่าๆ แต่ไม่ใช่หวือหวาไปถึง 38 บาทต่อเหรียญที่ทำให้การวางแผนธุรกิจค่อนข้างยาก


นายสุชาติยังกล่าวถึงการขาดแคลนแรงงานหลังธุรกิจท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวว่า ภาพรวมแรงงานยังคงขาดแคลนราว 3.5-5 แสนคน โดยภาคท่องเที่ยวและบริการขาดแคลนสูงสุด โดยเมื่อท่องเที่ยวเติบโตทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปรับตัวไม่ทันด้วย ซึ่งภาครัฐควรจะเร่งแก้ไขในการนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านให้เร็วขึ้น โดยแรงงานเพื่อนบ้านที่ไทยต้องการมากสุดคือเมียนมา

นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลกคิดเป็น 73% ราคาน้ำมัน 58.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 50.2% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 48.6% ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.9 ในเดือนธันวาคม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น