นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 33.30-34.00 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ (13 ก.พ.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.85 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.77 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดคาดเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.25%)
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรระวังความเสี่ยงตลาดปรับมุมมอง (Repricing) แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด BOE และ ECB
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีความเสี่ยงอ่อนค่าต่อ และอาจทดสอบแนวต้านสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อ พร้อมการปรับตัวลงของราคาทองคำ ทั้งนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องในสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอาจยิ่งสร้างแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ (ราคาพลังงานสูง กดดันดุลการค้า เนื่องจากประเทศไทยเป็น Net Importer พลังงาน)
อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ เรามองว่าในภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าใกล้ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเป็นไปได้หากฝั่งผู้ส่งออกมีการปรับมุมมองต่อเงินบาท เช่น ผู้ส่งออกไม่เร่งรีบขายเงินดอลลาร์และมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงหลังปรับตัวอ่อนค่าทะลุ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์อาจเป็นจุดที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Long USDTHB (ตั้งแต่การพลิกกลับมาอ่อนค่าเหนือระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์) ใช้เป็นจุดในการทยอยขายทำกำไร หรือปิดสถานะ Long USDTHB บางส่วนได้ ซึ่งการปรับสถานะดังกล่าวอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้หากตลาดเริ่มมองเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า 5.25% ซึ่งต้องรอลุ้นภาพอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยเฉพาะในส่วนอัตราเงินเฟ้อจากภาคการบริการ อนึ่ง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจถูกชะลอลงได้บ้างหากตลาดยังคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจากทั้ง BOE และ ECB
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ - รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมกราคมอาจสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินได้ โดยในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงขยายตัวไม่น้อยกว่า +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (คิดเป็นระดับ 6.4% และ 5.6% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ) ตามที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ อาจสะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้จะชะลอตัวลง (ตามที่ประธานเฟดได้ระบุในการประชุมเฟดและในสัปดาห์ก่อนหน้า) แต่อาจไม่ได้ชะลอเร็วนัก โดยเฉพาะหากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว หนุนให้อัตราเงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการชะลอตัวช้า ซึ่งในกรณีนี้ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และอาจเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดที่มากกว่าระดับ 5.25% ซึ่งตลาดมองไว้ล่าสุด (จาก CME FedWatch Tool ตลาดประเมิน เฟดมีโอกาสราว 38% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.50% เพิ่มขึ้นจากโอกาสเพียง 5% ที่ตลาดมองในช่วง 1 เดือนก่อนหน้า) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและการปรับนโยบายการเงินเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้นทยอยออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาด รวมถึงนักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการรวมถึงแนวโน้มผลประกอบการในอนาคตออกมาแย่กว่าคาด อาจส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ต่อเนื่องได้
▪ ฝั่งยุโรป - ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ โดยเฉพาะรายงานข้อมูลตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ของอังกฤษในเดือนมกราคมอาจชะลอลงสู่ระดับ 10.2% อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มชะลอลง ทว่า หากรายงานข้อมูลการจ้างงานอังกฤษยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว โดยเฉพาะค่าจ้างยังคงขยายตัวกว่า +6.5% อาจสะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษอาจชะลอตัวช้ากว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดหวัง ทำให้ BOE อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่วนในฝั่งยูโรโซน ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวเพียง +1.9%y/y กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี วิกฤตพลังงานที่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่กังวล รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐในหลายประเทศช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และเจ้าหน้าที่ ECB อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของทั้ง BOE และ ECB
▪ ฝั่งเอเชีย - ตลาดคาดว่าการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังการเปิดประเทศ ดังจะเห็นได้จากการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวราว +1.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี (q/q annualized) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจชะลอลงในช่วงต้นปี 2023 ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกดดันยอดการส่งออกและภาคการผลิต นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอาจกระทบการบริโภคของครัวเรือนได้ ในฝั่งนโยบายการเงิน ตลาดมองว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 5.75% หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 9% ในขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.75% หลังค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) กลับมาแข็งค่าขึ้น อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่องและมีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมาย 2-4% ของ BI ได้ในปีนี้
▪ ฝั่งไทย - ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้าอาจขยายตัวราว +3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งการส่งออกอาจขยายตัวได้ไม่ดีมากนัก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก