xs
xsm
sm
md
lg

กกร.คงกรอบ GDP ปี 66 โต 3-3.5% ท่องเที่ยวหนุนห่วงค่าไฟ-ดบ.-บาทแข็ง ดันต้นทุนพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กกร.” ยังคงกรอบประมาณการ ศก.ปี 2566 โดยคาด GDP ยังโตได้ 3-3.5% ส่งออกโต 1-2% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2% หลัง ศก.ไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยวแต่ยังคงเสี่ยงจากภาคส่งออกชะลอตัว วิตกค่าไฟ ดอกเบี้ย และบาทแข็งค่าดันต้นทุนการผลิตเพิ่ม และที่สุดจะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้า

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เปิดเผยว่า กกร.ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เท่ากับประมาณการครั้งก่อนในเดือนม.ค. โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโต 3-3.5% จากปี 2565 การส่งออกจะขยายตัว 1-2% และเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.7-3.2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวแต่มีความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่จะชะลอตัว

"จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจมากกว่า 22.5 ล้านคนที่ประเมินไว้เดิม จากนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงต้นปี และต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของค่าเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้เร็วแต่อาจไม่เพียงพอที่จะทดแทนความต้องการสินค้าจากประเทศหลักอื่นๆ" นายเกรียงไกรกล่าว


ทั้งนี้ กกร.ยังมีความเป็นห่วงเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้เพียงพอรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังจากจีนเปิดประเทศ

"ทางคณะทำงานด้านพลังงานและค่าไฟฟ้าของ กกร.ได้หารือร่วมกับภาครัฐเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนไปส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งเห็นว่าค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ในรอบถัดไป (พ.ค.-ส.ค. 66) ควรลดลง เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในด้านการเพิ่มขึ้นของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง เป็นต้น" นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและมากกว่าสกุลภูมิภาค แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลในไตรมาสที่ 4/2565 มุมมองของนักลงทุนที่เป็นบวกต่อการเปิดประเทศของจีน และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าหลังจากตลาดคลายความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่เงินบาทแข็งค่าราว 15% ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และแข็งค่าถึง 5% ในช่วงเดือนมกราคมซึ่งมากและเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคอย่างชัดเจน เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในภาวะที่ความต้องการสินค้าชะลอตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น