KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีนจะส่งผลบวกค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2023 จากภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัว แม้ว่าในระยะสั้นจีนจะยังเจอความท้าทายจากการระบาดของเชื้อโควิดที่เกิดขึ้นอย่างหนักและรวดเร็ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่หากการระบาดเกิดขึ้นและจบเร็วตามคาด อาจนำไปสู่การฟื้นตัวที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมายังไม่ฟื้นกลับสู่ระดับปกติจากนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาเพียงประมาณ 11 ล้านคนในปี 2022 เทียบกับระดับ 40 ล้านคนในปี 2019 ส่วนสำคัญเกิดจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนประมาณ 25% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงก่อนโควิดยังไม่กลับมา
การเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยตรงผ่านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนโควิด ทำให้แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศหลักของโลกไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว และกระทบต่อการส่งออกไทย แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะยังสามารถขยายตัวได้ค่อนข้างดี
KKP Research ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2023 จากการเติบโตที่ 2.8% เป็นเติบโต 3.6% โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสามารถเข้ามาได้ 25.1 ล้านคน จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 19.2 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลบวกเพิ่มเติมต่อการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังเติบโตอย่างแตกต่างกันมากในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยภาคการท่องเที่ยวและภาคริการขยายตัวได้ดี ในขณะที่ภาคการผลิตและการส่งออกอาจหดตัวจากอุปสงค์ของโลกที่อ่อนแอลง ในภาพรวมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจทำให้ KKP Research ยังคงประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับเกินกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังต้องปรับขึ้นอีก 100bps ในปีนี้
นักท่องเที่ยวจีนกลับมาไทยเร็วแค่ไหน?
จากประสบการณ์ในฮ่องกงและญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 2022 การระบาดของโควิดในรอบล่าสุดใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ในขณะที่สถานการณ์ในจีนอาจใช้เวลานานกว่านั้นเล็กน้อย และอาจมีการระบาดมากกว่าหนึ่งระลอกจากจำนวนคนฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ KKP Research ประเมินว่าการเปิดเมืองของจีนจะเริ่มเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 และเริ่มเห็นผลเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเศรษฐกิจไทยจะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์เป็นหลักจากโครงสร้างการท่องเที่ยวที่พึ่งพาจีนสูง และเป็นประเทศที่จีนเข้ามาเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวหลังการเปิดประเทศของจีน จากจำนวนเที่ยวบินจากจีนแผ่นดินใหญ่มาไทยในเดือนมกราคม มีประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน หรือ 1,500 เที่ยวบินต่อเดือน คิดเป็นจำนวนคนเดินทางประมาณ 230,000 คนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 50,000 คนต่อเดือนในช่วงเดือนธันวาคมปี 2022
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์
เมื่อย้อนดูตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในปี 2019 จะพบว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม การเดินทาง สันทนาการ เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะยังคงค่อนค้างกระจุกตัวในบางธุรกิจ และบางพื้นที่ท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งจังหวัดใหญ่เพียง 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา เป็นที่มาของการท่องเที่ยวไปกว่า 90% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ทำให้ตัวเลข GDP ที่ปรับดีขึ้นในปี 2023 จะเป็นตัวเลขที่อาจไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ดีนัก
การส่งออกไทยในระยะสั้นยังน่ากังวล
แม้การเปิดประเทศของจีนจะส่งผลบวกบ้างต่อภาคการส่งออกไทย แต่อาจยังไม่เพียงพอชดเชยการชะลอตัวของภาคการผลิตในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากไทยมีการส่งออกไปประเทศกลุ่มนี้รวมกันมากกว่าจีน KKP Research ยังคงประเมินว่าปริมาณการส่งออกของไทยจะยังเติบโตติดลบ 1.8% ในปี 2023 และการส่งออกในรูปสกุลเงิน US dollar มีโอกาสหดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ก่อนที่อาจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ความไม่แน่นอน 3 ประการในปี 2023
แม้ว่าในภาพรวมการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นของจีนจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย คือ
1) ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูงจะกระทบผู้ส่งออกและนำเข้า ในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปมาก จากการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลมากที่สุดในรอบหลายปี ในปี 2023 แม้ว่าเงินบาทจะเริ่มแข็งค่าขึ้น แต่สถานการณ์ค่าเงินบาทยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากดุลการค้าที่ยังมีความเสี่ยงขาดดุลในปีหน้า โดยตัวเลขดุลการค้าในไตรมาส 3 ปี 2022 พลิกเป็นขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ซึ่งเกิดจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวขึ้นเร็วกว่าการส่งออกตามราคาสินค้านำเข้าจากที่ปรับสูงขึ้น
2) หากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเร็วอาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในภาคบริการ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะส่งผลบวกต่อรายได้ของคนในประเทศ แต่มีผลข้างเคียงต่อราคาสินค้าในประเทศซึ่งสามารถเกิดได้จาก 2 ส่วน คือ 1) ราคาสินค้าในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น 2) ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก ภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีแรงงานจำนวนมากย้ายออกจากภาคบริการ และผู้ประกอบการไม่สามารถดึงคนกลับมาทำงานได้
3) อัตราเงินเฟ้อโลกยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้มากกว่าคาด และทำให้อัตราดอกเบี้ยยังเป็นทิศทางขาขึ้น ในปี 2023 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเริมคลี่คลายลงและทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเหมือนปีที่ผ่านมารวมทั้งมีโอกาสปรับดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปี แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง จากทั้งภาวะทางการเงินที่ยังไม่ตึงตัวมาก ตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง จีนที่กลับมาเปิดประเทศ และการคาดการณ์เงินเฟ้อของคนที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นเร็วจะทำให้เงินเฟ้อในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นได้ สร้างความท้าทายต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง