เจ.พี.มอร์แกน กลุ่มธุรกิจการเงินระดับโลก ได้ปรับมุมมองต่อตลาดหุ้นของประเทศไทยเป็น "เพิ่มน้ำหนักการลงทุน" (Overweight) จาก "คงน้ำหนักการลงทุน" (Neutral) จากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยได้เปิดเผยข้อมูลระหว่างการประชุม J.P. Morgan Thailand Conference ที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครในสัปดาห์นี้ โดยเชื่อว่าไทยเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากนักท่องเที่ยวจีนรองจากฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊าในปี 62 จะส่งผลบวกต่อบรรยากาศทางธุรกิจในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก
นายอาจดนัย มาร์โค สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสประจำประเทศไทยของเจ.พี.มอร์แกน กล่าวว่า "การเปิดประเทศที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ของประเทศจีนเป็นปัจจัยเร่งสำคัญสำหรับสถานการณ์ขาขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทย"
ในปี 62 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยว 11 ล้านคนจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 29% ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยทั้งหมดก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด สำหรับปี 66 คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนประเทศไทยทั้งสิ้น 26 ล้านคน ซึ่งอยู่ในระดับ 65% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในไทยในปี 62 และสูงกว่าที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ที่ 25 ล้านคน ซึ่งจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นมูลค่า 39,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ สูงขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 65 คิดเป็นสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของไทย
นายจักรพันธ์ พรพรรณรัตน์ หัวหน้าสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เจ.พี.มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นอกจากนี้ โครงการ "ช้อปดีมีคืน" ซึ่งเป็นโครงการคืนภาษีล่าสุดของรัฐบาล โดยเปิดให้ผู้บริโภคสามารถลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 จะช่วยเสริมการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศระยะสั้น ทั้งนี้ การใช้จ่ายของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งในขณะนี้ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวอย่างมาก
เจ.พี.มอร์แกน ให้เป้าหมายพื้นฐานที่ 590 สำหรับดัชนี MSCI Thailand และ 1,800 สำหรับดัชนี SET ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 66 โดยปรับมุมมองให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สินค้าฟุ่มเฟือย และการดูแลรักษาสุขภาพ
ในภาพรวม เจ.พี.มอร์แกน เชื่อว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนน่าจะกลับมาในครึ่งแรกของปี 66 โดยล่าสุดรัฐบาลจีนได้ประกาศให้เริ่มเปิดชายแดนกับฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าที่สำคัญของการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนที่กลับมาเป็นปกติ
นายอาจดนัย มาร์โค สุจริตกุล กล่าวว่า เราคิดว่ามีความต้องการของประชากรจีนอย่างมากที่รอเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ การคาดการณ์พื้นฐานของเราคาดว่าการท่องเที่ยวนอกประเทศของประชากรจีนจะเริ่มกลับสู่ภาวะเดิมภายในช่วงท้ายของไตรมาสแรก และการกลับสู่ภาวะเดิมอย่างเต็มรูปแบบของการท่องเที่ยวทั่วโลกของนักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มในช่วงกลางปี โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของปี 66 สู่ระดับ 50% ของระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด แรงหนุนจากเงินเฟ้อที่ชะลอลง ค่าเงินบาท และการเลือกตั้ง
นอกจากอานิสงส์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแล้ว เจ.พี.มอร์แกน คาดว่าปัจจัยที่จะช่วยเสริมตลาดทุนไทยในปี 66 ได้แก่เงินเฟ้อที่ชะลอลงจากราคาพลังงานที่ลดลง และการเติบโตของค่าจ้างที่ไม่สูงมากจนเกินไป ซึ่งส่งให้กำไรของธุรกิจไทยปรับดีขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.75 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 1.25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และเจ.พี.มอร์แกน คาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์อีก 2 ครั้งในไตรมาสนี้ จนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75 เปอร์เซ็นต์
การปรับอัตราดอกเบี้ยทำให้เงินเฟ้อเริ่มชะลอลง และ เจ.พี.มอร์แกนคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะลดลงมาอยู่ที่ 3.3% ภายในสิ้นปี 66 จาก 6.3% ในปี 65 นายอาจดนัย มาร์โค สุจริตกุล กล่าวว่า "ต้นทุนด้านราคาที่ต่ำลงคาดว่าจะส่งผลบวกอย่างยิ่งแก่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจด้านสาธารณูปโภคในประเทศไทย ซึ่งมีหนทางจำกัดในการหลีกเลี่ยงผลกระทบของภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 65"
ขณะเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทซึ่งได้รับแรงหนุนจากรายรับของการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นและราคาขนส่งสินค้าที่ลดลงและช่วยให้บัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยอยู่ในลักษณะเกินดุลในปีที่แล้วนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในปีนี้ โดยนายจักรพันธ์ กล่าวว่า "เรามองว่าค่าเงินที่แข็งขึ้นน่าจะเพิ่มผลตอบแทนให้นักลงทุนในหลักทรัพย์"
นอกจากนั้น เจ.พี.มอร์แกน มองว่าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะสร้างแรงหนุนในระยะสั้นแก่ตลาดหุ้น จากการวิเคราะห์ในอดีต ค่ากลางผลตอบแทนของหลักทรัพย์ไทยในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 5% โดยหมวดอิเล็กทรอนิกส์พลังงาน อาหารและเครื่องดื่ม และการพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนได้เหนือตลาดรวม อย่างไรก็ดี ผลบวกนี้น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะปานกลาง