ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุการส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน 2565 ยังหดตัวต่อเนื่องที่ -6.0%(YoY) โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลให้ส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปีเติบโตที่ 7.6%(YoY) ทั้งนี้ ส่งออกไทยตลอดปี 2565 คาดว่าจะเติบโตเป็นบวกทำสถิติมูลค่าการส่งออกสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้แรงส่งจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกชะลอตัวอย่างชัดเจน และน่าจะเป็นภาพต่อเนื่องในปีถัดไป
ทั้งนี้ จากมูลค่าการส่งออกในปี 2565 ที่สูงอย่างมาก การอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลกปรากฏชัดยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อของคู่ค้า รวมทั้งผลด้านราคาที่ลดลง ทำให้การส่งออกของไทยปี 2566 อาจหดตัวที่ 1.5% มีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 2.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแรงฉุดจากสินค้าที่เสี่ยงหดตัวในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เครื่องประดับและยานยนต์ สินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่สินค้าจำเป็นแม้ยังมีทิศทางสดใสแต่มีข้อจำกัดในการเติบโต เช่น สินค้าอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกไม่มาก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างจำกัดจึงไม่เพียงพอขับเคลื่อนการส่งออกในภาพรวม
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) เผยด้านมูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 23,650.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.6% เทียบกับ -2.3% ในเดือนตุลาคม โดยเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่เร่งขึ้นมาก 50.6%YOY เทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัวเพียง 7.5% อีกทั้งการนำเข้าอาวุธยุทธปัจจัยขยายตัวถึง 2,027.6% จากปัจจัยฐานต่ำ และการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเครื่องมือแพทย์ เครื่องบินและอุปกรณ์การบินขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยยังคงชะลอตัวช้ากว่ามูลค่าการส่งออกมาก ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและสัญญาณเศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวลง ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรเดือนนี้ขาดดุล -1,342.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยรวม 11 เดือนแรกของปี 2022 มูลค่าการนำเข้าขยายตัวดี 16.3% และดุลการค้าขาดดุล -15,088.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่การส่งออกของไทยในระยะต่อไปยังคงน่าห่วงจาก (1) ข้อมูลดัชนี Global Manufacturing PMI ที่ลดลงมาอยู่ในระดับ 48.8 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการหดตัวในภาคการผลิตที่รุนแรงสุดในรอบ 29 เดือน นอกจากนี้ หากพิจารณาในดัชนีย่อยของ PMI พบว่ายอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ระดับงานคงค้างลดลงเช่นเดียวกัน สะท้อนแนวโน้มความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงมากในระยะข้างหน้าตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ในทางตรงกันข้ามอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนอุปทานคลี่คลายลงบ้าง สะท้อนจากดัชนีย่อย PMI หมวดระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าพบว่า แม้ยังต่ำกว่าระดับ 50 แต่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(2) ข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือนธันวาคมที่ยังหดตัวต่อเนื่อง -8.8% แม้รุนแรงน้อยกว่า -16.7% ในเดือนก่อน และ (3) การส่งออกของจีนในเดือนพฤศจิกายนหดตัว -8.9% รุนแรงที่สุดในรอบ 33 เดือน เทียบกับเดือนตุลาคมที่หดตัวเล็กน้อย ด้านการนำเข้าของจีนหดตัว -10.6% นับเป็นการหดตัว 2 เดือนติดต่อกันและรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 นอกจากนี้ จีนนำเข้าสินค้าไทยลดลง -14.1% นับเป็นการหดตัว 8 ครั้งในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ การยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ของจีนที่เพิ่งประกาศอาจมีส่วนช่วยให้ความต้องการสินค้าในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ผลกระทบในระยะสั้นนี้อาจมีไม่มากนักเนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้ง เศรษฐกิจและอุปสงค์ในการบริโภคในจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยสรุปจากข้อมูล 3 ประการที่กล่าวมานี้ สะท้อนให้เห็นอุปสงค์ตลาดโลกที่ลดลงชัดเจน ส่งผลต่ออุปสงค์ของสินค้าจากไทยที่อาจลดลงเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความท้าทายในระยะข้างหน้า ตลาดตะวันออกกลางอาจเป็นโอกาสของส่งออกไทย จากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ ในสินค้าส่งออกกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้างและเครื่องปรับอากาศ