xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.68 แกว่งตัวในกรอบ 34.55-34.75

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ธ.ค.) ที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาท/ดอลลาร์ บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทใหญ่ อย่าง Nike (+12.2%) ที่ออกมาดีกว่าคาด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจพอได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง (ดัชนี DXY ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104 จุด) ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบต่อ (sideways) และอาจไม่ได้แข็งค่าต่อเนื่องไปมาก หากเงินดอลลาร์ไม่กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจนเหมือนช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรบอนด์ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น) ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่าแนวรับเงินบาทจะยังอยู่ในโซน 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ และควรระวังความผันผวนในฝั่งอ่อนค่าที่อาจเกิดขึ้นในวันนี้ หากรายงานข้อมูลยอดการส่งออกของไทยนั้นออกมาหดตัวมากกว่าคาด จนทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลมากกว่าคาดได้

นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่างดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ในเดือนธันวาคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 108.3 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไปมาก หลังผู้บริโภคในฝั่งสหรัฐฯ เริ่มคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อสูง อีกทั้งตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างกลับเข้ามาซื้อหุ้นสหรัฐฯ หลังจากที่มีการปรับฐานมาพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +1.49%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปพุ่งขึ้นราว +1.71% หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตลาดเคยกังวล หลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนี (Gfk Consumer Climate) ในเดือนธันวาคมได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -37.8 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยตามอานิสงส์ของผลประกอบการบริษัท Nike สหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด

ในส่วนตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 3.70% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากผลกระทบของความกังวลแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายน้อยลงของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจยังคงมีความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงหนักและรอจังหวะให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ก่อนที่จะทยอยเข้าซื้อสะสมและเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยให้มากขึ้น

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.2 จุด หนุนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ แรงขายทำกำไรการแข็งค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยสู่ระดับ 132.4 เยนต่อดอลลาร์ (หลังจากที่ได้แข็งค่าไปใกล้ระดับ 131 เยนต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 1,825 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งใกล้กับโซนแนวต้าน ทำให้เรามองว่าผู้เล่นบางส่วนอาจใช้จังหวะที่ราคาทองคำแกว่งตัวใกล้แนวต้านในการขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำเกิดขึ้นนั้นอาจช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ในฝั่งไทยตลาดคาดว่าผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤศจิกายน อาจหดตัวต่อเนื่อง -5%y/y ในขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) อาจยังขยายตัวราว +0.6%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) อาจขาดดุลราว -100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น