xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานแย้มค่าไฟงวดใหม่มีลุ้นลดลงหลัง LNG ดิ่งหนุนคนติดโซลาร์ฯ พุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปลัดกุลิศ" แย้มราคา LNG ตลาดจรราคาดิ่งลงแตะ 15-16 เหรียญ/ล้านบีทียู หากลดต่อเนื่องมีลุ้นค่าไฟงวดใหม่ พ.ค.-ส.ค. 66 อาจลดลงและจะเหลืออัตราเดียว ขณะที่ กกพ.เผยโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเกินเป้า กบง.เปิดกว้างรับซื้อเป็นไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ จากเดิมกำหนดปีละ 10 เมกะวัตต์
 
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งหากราคายังลดลงต่อเนื่องทำให้การพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 66) จะเป็นอัตราเดียวจากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดไว้ 2 อัตรา คือในงวด ม.ค.-เม.ย. 66 คือประเภทบ้านที่อยู่อาศัยค่าไฟเฉลี่ยรวมที่ 4.72 บาท/หน่วย และประเภทอื่นๆ (ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ฯลฯ) 5.33 บาท/หน่วย

"ก่อนหน้านี้รัฐกำหนดให้ดูแลค่าไฟกลุ่มครัวเรือนโดยให้ใช้ก๊าซอ่าวไทยที่ถูกกว่าก่อนเนื่องจากตอนนั้นราคา LNG สูงมาก 40-47 เหรียญ/ล้านบีทียูช่วงปลายปี 2565 เพราะอากาศประเทศตะวันตกหนาว เมื่อราคา LNG ลดต่ำลงขณะนี้และหากลดลงต่อเนื่องก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น 2 อัตรา ส่วน Ft งวด พ.ค.-ส.ค. 66 หาก LNG ลดต่อเนื่องก็เป็นไปได้ว่าค่าไฟเฉลี่ยอาจจะต่ำกว่า 5 บาท/หน่วยได้เช่นกัน แต่ก็คงต้องดูปัจจัยต่างๆ ใกล้ชิด และหากการนำเข้า LNG ลดลงการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าก็จะปรับลดเช่นกัน" นายกุลิศกล่าว

อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG โดยผู้นำเข้า (ชิปเปอร์) รายใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะราคานำเข้าใหม่ที่เป็นตลาดจร (Spot) จะสูงกว่าราคาตลาด POOL ที่บมจ.ปตท.ได้ราคานี้เพียงรายเดียว ที่เกิดจากการอ้างอิงราคาก๊าซในประเทศ ราคานำเข้าจากเมียนมา และราคาแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว (LONG TERM) ดังนั้น กพช.จึงมีมติครั้งนี้ให้ทบทวนการเปิดเสรี ก๊าซฯ ระยะที่ 2 ที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 64 โดยปรับเปลี่ยนเป็นให้ 8 ชิปเปอร์ สามารถนำเข้า LNG ตามเกณฑ์ราคากำหนดของ กกพ.ที่จะออกเกณฑ์ ราคา Benchmark ใหม่ ให้เหมาะสม ต้นทุนต่ำ เพื่อประโยชน์ของการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยให้นำราคาใหม่ที่นำเข้านำมาผสมในราคาตลาด POOL ได้ด้วยเพื่อให้ชิปเปอร์รายใหม่มีโอกาสนำเข้าได้ นอกเหนือจาก ปตท.

"การดูแลตลาด POOL จะมีการจัดตั้งส่วนดูแล หรือ POOL MANAGER ที่เบื้องต้น บมจ.ปตท.เป็นผู้ดูแล แต่จะมีการแยกบัญชีออกมาชัดเจนแล้ว ในอนาคต กกพ. เสนอว่า POOL MANAGER จะเป็นองค์กรอิสระมาดูแล" นายกุลิศกล่าว

นอกจากนี้ กพช.ได้รายงานถึงผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรณีที่มีผู้ร้องว่าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) มีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไม่ขัดแต่มีข้อเสนอแนะให้ไปพิจารณาความชัดเจนเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชนในระบบ และกำหนดปริมาณสำรองไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างพิจารณาการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2022) ที่จะให้สอดรับกับแนวทางดังกล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ยอมรับว่าการจัดทำ PDP ต้องช้าออกไปจากแผนเดิมเล็กน้อยเพราะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลฯ มาปรับปรุง โดยจะพยายามจัดทำให้เสร็จภายในไม่เกินกลางปีนี้ โดยหลักการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้านี้อาจจะเป็นเอกชน 30% การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 30% และที่เหลือ 40% นำมาประมูลโดย กฟผ.ก็สามารถร่วมแข่งขันได้ ส่วนกำลังสำรองไฟฟ้าจะปรับไปใช้เกณฑ์ดัชนีการเกิดไฟฟ้าดับ หรือ LOLE เพราะสะท้อนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้มากกว่าเนื่องจากแผน PDP ใหม่จะมีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะเน้นดูการผลิตไฟฟ้าจริงไม่ใช่ดูที่กำลังการผลิตไฟทั้งหมด

โซลาร์ภาค ปชช.ปรับซื้อไฟไม่เกิน 90 MW

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ที่กกพ.ประกาศเชิญชวนรับซื้อตามนโยบายรัฐปีละ 10 เมกะวัตต์จนถึงปี 2573 รวม 90 เมกะวัตต์ แต่ปรากฏว่าประชาชนให้ความสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้นและเสนอขายเกินกรอบเป้าหมายปี 2565-2566 ครบ 20 เมกะวัตต์แล้ว ดังนั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อเร็วๆ นี้จึงได้เห็นชอบให้กำหนดกรอบการรับซื้อเป็นปี 2565-2573 รวมเป็น 90 เมกะวัตต์เพื่อให้มีการตอบรับการซื้อไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น