นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี (66-70) ที่ 27,000 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งงบลงทุน 5 ปีที่ 18,500 ล้านบาท และยังคงรักษาอัตรากำไร EBITDA ไม่น้อยกว่า 50%
จากความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา บริษัทจึงเร่งขับเคลื่อนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 66 วางแผนและทิศทางการดำเนินธุรกิจเชิงรุกผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การเติบโตอย่างยั่นยืน เน้นต่อยอดธุรกิจทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม เพื่อสร้างอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจดังนี้
ธุรกิจสาธารณูปโภค ปีนี้เน้นเพิ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชัน โดยเฉพาะน้ำมูลค่าเพิ่ม ตั้งเป้ายอดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำทั้งหมดที่ระดับ 168 ล้าน ลบ.ม. จาก 145 ล้าน ลบ.ม.ในปี 65 แบ่งเป็นในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 135 ล้าน ลบ.ม. ปัจจัยขับเคลื่อนมจากความต้องการใช้น้ำของลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่เซ็นสัญญาในปี 65 คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 15 ล้าน ลบ.ม./ปี
นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินโครงการโรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสีย เช่น โรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังการผลิตรวม 3.3 ล้าน ลบ.ม./ปี และยังเตรียมสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง ในเดือน ก.พ.นี้ กำลังการผลิตรวม 5.8 ล้าน ลบ.ม./ปี
พร้อมทั้งมีโครงการจัดหาน้ำดิบทดแทนเพื่อความมั่นคง 2 โครงการ กำลังการผลิตน้ำรวม 10 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยแห่งแรกรองรับนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการที่ 2 ในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จะเริ่มสร้างในไตรมาส 1/66
ส่วนการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภคในเวียดนาม ซึ่งให้บริการอยู่ 3 โครงการ คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้ายอดจำหน่ายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้าน ลบ.ม.ในปี 66 จากปี 65 ที่ 28 ล้าน ลบ.ม. เป็นผลมาจากการขยายฐานลูกค้าและพื้นที่ให้บริการน้ำประปาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ธุรกิจด้านพลังงาน วางกลยุทธ์ขยายธุรกิจทั้งในไทยและเวียดนาม พร้อมสำรวจหาตลาดใหม่ในประเทศอื่นๆ และหาโอกาสใหม่ๆ กับธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) พลังงานไฮโดรเจน และการซื้อขายคาร์บอน เป็นต้น โดยในปีนี้จะเดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ขยะอุตสาหกรรม และประเภทอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสะสมเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ จากปีก่อน 136 เมกะวัตต์ บริษัทเข้าร่วมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ผ่านการคัดเลือกด้านเทคนิค 5 โครงการ คาดว่าจะรู้ผลรอบสุดท้ายภายในเดือน มี.ค.
ขณะเดียวกัน บริษัทให้ความสำคัญในการนำโซลูชันดิจิทัลนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาต่อยอดธุรกิจ โดยได้ร่วมมือกับ บมจ.ปตท.(PTT) และ Sertis พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ชื่อ Renewable Energy Exchange (RENEX) ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำธุรกรรม เริ่มนำไปใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ โดยมีลูกค้าแล้ว 54 ราย
บริษัทอยู่ระหว่างแผนการศึกษาและพัฒนาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในแพลตฟอร์มดังกล่าวด้วย เบื้องต้นได้ลงทะเบียนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์กับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และ I-REC หรือใบรับรองสีเขียวที่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งได้รับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน I-REC
"WHAUP มีความมุ่งมั่นแสวงหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดการเติบโตและสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ โดยเน้นการใช้นวัตกรรมโซลูชันต่างๆ ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืนและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050)" นายสมเกียรติ กล่าว