xs
xsm
sm
md
lg

“โซลาร์ดี” รับอานิสงส์ค่าไฟแพง ลูกค้าแห่ติดโซลาร์รูฟดันรายได้ปีนี้ 1 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โซลาร์ ดี” เร่งเดินหน้ารุกตลาดโซลาร์บนหลังคาแบบครบวงจร รับดีมานด์พุ่งหลังค่าไฟฟ้าแพง ตั้งเป้าปี 66 มีเป้าติดตั้งโซลาร์รวม 50 เมกะวัตต์ และมีรายได้โตขึ้นเท่าตัวแตะ 1 พันล้านบาท ล่าสุดได้เป็นตัวแทนติดตั้ง Tesla Powerwall เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานอย่างเป็นทางการรายแรกของไทย ช่วยเจาะตลาดกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น

นายสัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซลาร์ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทฯ มีเป้าหมายการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาแบบครบวงจรประมาณ 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นตลาดอาคารเชิงพาณิชย์ สำนักงานและภาคอุตสาหกรรมราว 40 เมกะวัตต์ และที่เหลืออีก 10% เป็นกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ามีรายได้รวมเพิ่มมากขึ้นแตะ 1,000-1,100 ล้านบาท โตต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีรายได้ 500 กว่าล้านบาท

ปัจจุบันค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมากทำให้ลูกค้ากลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยอาคารพาณิชย์สำนักงานต่างๆ รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี โรงเรียน ให้ความสนใจในการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทฯ อยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้มานาน 10 ปีมีนวัตกรรม และให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาระบบ Automation รวมทั้งมีโรงงานผลิตและประกอบแผงโซลาร์เซลล์ที่นำเข้ามาก่อนที่นำไปติดตั้ง ช่วยร่นเวลาดำเนินการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาได้รวดเร็วขึ้นและใช้คนน้อยลงด้วย ล่าสุด บริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนติดตั้ง Tesla Powerwall อย่างเป็นทางการรายแรกของไทย

Tesla Powerwall เป็นเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำให้ทุกครัวเรือนสามารถผลิตและจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินไว้ใช้ในช่วงเวลาที่ต้องการ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย จัดการและควบคุมบ้านแบบเรียลไทม์ผ่าน Tesla Application เพียงปลายนิ้ว ช่วยลดการพึ่งพิงไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ซึ่งช่วยตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าบ้านที่อยู่อาศัยสามารถผลิตและกักเก็บไฟฟ้าส่วนเกินไว้ใช้ยามที่ต้องการได้หรือใช้เป็นแบ็กอัพในช่วงที่ไฟตกหรือไฟดับด้วย ซึ่ง Tesla Powerwall มีจุดแข็งด้านนวัตกรรมแล้วยังมีดีไซน์ที่เรียบง่าย สวยงามใช้เป็นการตกแต่งบ้านได้ด้วย โดยโซลาร์ดีร่วมกับบริษัท VaSLab Architecture มาร่วมออกแบบ Solar D Gallery เพื่อเป็นโชว์รูมเพื่อให้ทุกคนได้สัมผัส "อิสรภาพทางพลังงาน" อย่างเป็นรูปธรรม


ทั้งนี้ บริษัทฯ มองว่ากลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มครัวเรือนมีการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาน้อยมากคิดเป็น 2-3% เท่านั้น เนื่องจากในช่วงกลางวันมีการใช้ไฟฟ้าน้อยและไม่มีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ที่จะเก็บพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินไว้ใช้ได้จึงไม่คุ้มค่า แต่เมื่อเทียบกับอาคารพาณิชย์ สำนักงานรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการติดตั้งโซลาร์บนหลังคิดเป็นสัดส่วนราว 30% เพราะส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้ามาก

นายสัมฤทธิ์กล่าวว่า นอกเหนือจากการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาแล้ว บริษัทยังขยายไปสู่การติดตั้งโซลาร์บนพื้นดินและโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ด้วยเพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรที่ยื่นเสนอขายไฟในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565-2573 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 5.2 พันเมกะวัตต์ หากพันธมิตรได้รับเลือกบริษัทก็จะเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโซลาร์ในโครงการดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น