xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” อวดโซลาร์ลอยน้ำ มก. “ติดกว่า 4 ปี ประหยัดไฟกว่า 6 แสน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2562 จนวันนี้ นานกว่า 4 ปี ที่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG มอบโซลาร์ลอยน้ำ (floating solar) กำลังการผลิต 39.5 กิโลวัตต์ ให้กับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนน้ำแห่งแรกของกรุงเทพ

เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า “ช่วงที่ผ่านมาไปพูดที่ไหน ก็ต้องอวดโฟลทติ้งโซลาร์ของคณะประมง ตั้งแต่ติดมาประหยัดค่าไฟไปแล้วเกิน 6 แสนบาทครับ ลดคาร์บอนหลายร้อยตัน เป็นผลงานต้นแบบของเกษตรศาสตร์ วันนี้เราทำป้ายใหม่ ขอแอ็คท่าเป็นนายแบบหน่อยครับ”

ใครยังไม่ได้มาดู ขอให้มาชมได้ที่นี่ พิพิธภัณฑ์ประมง ม.เกษตรฯ จากความตั้งใจช่วยโลก ที่ไม่ได้อยู่แค่การสอน แต่มีความเชื่อที่เป็นไปได้ กับระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนน้ำ (Floating Solar) แห่งแรกของกรุงเทพ จากวันวาน ถึงวันนี้ ในวันที่คำว่า EV กำลังนิยม อาจารย์ธรณ์ มีข้อมูลพลังงานสะอาด เรื่องนี้มาบอกกัน

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดีคณะประมง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะประมง ร่วมพิธีเปิด และส่งมอบระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนน้ำ (Floating Solar) จากบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นำโดยนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCPG และคณะผู้บริหารบริษัท ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

ภาพมุมบน มองเห็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในบ่อ 10 ไร่ของคณะประมง มก.
เมื่อร่วม 5 ปีก่อน ภาพเช่นนี้ คงเป็นแค่ฝันไป แต่ปัจจุบัน เป็นไปได้แล้วที่ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ไฟฟ้าจากแดด เพื่อรถอีวี ที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลยสักนิด Zero Emission Vehicle - ZEV ของแท้ ใช้ไฟจาก Floating Solar แห่งแรกของกรุงเทพ สร้างอยู่ในบ่อ 10 ไร่ของคณะประมง บางเขน

ไฟฟ้าดังกล่าว นำมาใช้ในพิพิธภัณฑ์ประมง เพื่อให้เป็นอาคาร ปลอดก๊าซเรือนกระจก ไฟที่ผลิตยังเหลือพอใช้ สำหรับจุดชาร์จ EV สำหรับบุคลากรในคณะ และในอนาคตท่านคณบดี คณะประมง ผศ.ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คุยกับผมว่า เราจะพยายามติดตั้ง floating solar เพิ่มจนสามารถตอบโจทย์ ได้มากกว่านี้ (100+ kWh) เพราะจากข้อมูลที่ติดตาม มาจนปัจจุบัน โฟลตติ้งโซลาร์ ที่ติดตั้งยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับคุณภาพน้ำ และสัตว์น้ำ แต่เพื่อความไม่ประมาท เราตั้งเป้าว่า ไม่ควรเกินร้อยละ 30 ของพื้นที่บ่อ

“เทคโนโลยีไปเร็วมาก แผงโซลาร์ผลิตไฟฟ้า ได้มากขึ้นต่อหนึ่งแผง ทุ่นลอยรุ่นใหม่ รับน้ำหนักได้ดีขึ้น ใช้พื้นที่น้อยลง ยิ่งกระแสรถ EV กำลังมาแรง ใครๆ มาที่คณะประมง ก็ล้วนแต่ชอบใจ นิสิตเห็นก็รู้สึกได้ถึงความตั้งใจ ในการช่วยโลก ซึ่งเรื่องนั้นสำคัญมากๆ ครับ การสอนเป็นเรื่องดี แต่จะยิ่งดี หากเราสามารถทำในสิ่งที่เราสอน ให้เป็นไปได้”

ที่คณะประมง พวกเราเชื่อในความเป็นไปได้ และทำให้เกิดความเป็นไปได้ จากร่วม 5 ปีก่อน มาถึงปัจจุบัน ด้วยความสนับสนุน จากหลายฝ่าย นี่คือ ความหมายของความเป็นไปได้ ที่จะรักโลกให้มากขึ้นครับ

อ้างอิง
เฟซบุ๊ก : Thon
Thamrongnawasawat
(ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)
เว็บไซต์ : คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://fish.ku.ac.th


กำลังโหลดความคิดเห็น