จากประเด็นความยั่งยืนที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จากกติกาของคู่ค้าและกฎระเบียบของทางการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่จะหันมาใส่ใจประเด็นนี้มากขึ้น
ดังนั้นภาคธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและชั่งน้ำหนักผลบวกและผลกระทบจากทางเลือกต่างๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อรับมือกับประเด็นความยั่งยืน
ไม่ว่าจะเป็นการทำตามวิถีเดิมเพราะอาจมองว่าเรื่องนี้ยังไกลตัวหรือยังมาไม่ถึง การซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ผ่านเกณฑ์คู่ค้า การปรับกิจกรรม/ใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสะสมคาร์บอนเครดิตให้ได้ตามเกณฑ์ การปรับกระบวนการผลิตให้การปล่อยคาร์บอนมีระดับต่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การพิจารณาทางเลือกของแต่ละธุรกิจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ธุรกิจเผชิญ ทรัพยากรทางการเงิน และความคล่องตัวในการดำเนินการ ซึ่งบางทางเลือกอาจสามารถรอจังหวะในการดำเนินการได้ ขณะที่ บางทางเลือก ปรับเปลี่ยนไปเลยจะเหมาะสมกว่า
ภายใต้ทรัพยากรทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะเดียวกัน ไปข้างหน้าบริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว ในช่วงแรกธุรกิจส่วนใหญ่น่าจะเลือกดำเนินการในลักษณะที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก มีความคล่องตัวในการดำเนินการ แล้วค่อยๆ พิจารณาทำเพิ่มเติมตามความสถานการณ์และความจำเป็น มากกว่าจะเลือกใช้เงินลงทุนสูงตั้งแต่แรกซึ่งในบางกรณีก็มีความเสี่ยงสูงมากจากระดับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่อาจจะยังไม่นิ่งเช่นกัน
ยกตัวอย่าง ธุรกิจอาจเริ่มต้นจากการลดส่วนสูญเสียในกระบวนการผลิต แยกขยะและนำวัสดุอุปกรณ์เหลือทิ้งมาใช้ซ้ำ/รีไซเคิล วางแผนก่อนการใช้สิ่งต่างๆ เลือกใช้วัสดุ/วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดไฟฟ้าและน้ำ การใช้ไฟฟ้าช่วง Off-Peak ที่ค่าไฟต่อหน่วยต่ำ เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน การออกแบบเส้นทางการใช้รถยนต์ เปลี่ยนรถยนต์น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า การลดการขนส่งเที่ยวเปล่า การใช้โซลูชั่นหรือเทคโนโลยีเพื่อลดความสิ้นเปลือง เป็นต้น
แนวทางดังกล่าวนี้ ธุรกิจ SMEs ก็น่าจะสามารถดำเนินการหรือทยอยปรับเปลี่ยนเมื่อถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมได้โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง
บทความโดย ศูนย์วิจัยกสิกร
คลิกอ่านข่าว “ความท้าทายด้าน ESG ที่ควรจับตามองในปีนี้” https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000007561