xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” คงกรอบจีดีพีปี 66 โต 3-3.5% ท่องเที่ยวหนุนจี้แก้ค่าไฟแพงหลังสินค้าจ่อคิวขยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กกร.” ประเมินจีดีพีปี 66 ยังโตตามกรอบเดิมที่ประเมินไว้ 3-3.5% ส่งออกโต 1-2% เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 2.7-3.2% จากท่องเที่ยวหลังจีนเปิดประเทศ แต่ยังมีข้อจำกัดที่ส่งออกจะชะลอตัวตามศก.โลกถดถอย ประกอบกับต้นทุนค่าไฟ ค่าแรง ดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันภาคเอกชน รับแม้ค่าไฟภาคอุตฯ จะเหลือ 5.33 บาท/หน่วยแต่ก็ยังคงปรับขึ้นดันราคาสินค้าขยับ 5-10% หวังเวที "กรอ." พลังงานหาทางออก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน ม.ค. 2566
ว่า กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังคงเดิมจากเดือนธ.ค. 65 ที่คาดการณ์ไว้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวในกรอบ 3.0-3.5% การส่งออกคาดอยู่ในกรอบ 1.0-2.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ในกรอบ 2.7-3.2% จากปีก่อน แม้ว่าแนวโน้มของภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากจีนเปิดประเทศแต่การส่งออกมีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับภาวะต้นทุนทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรงงานที่เพิ่ม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงยังเป็นความท้าทายของเอกชนอยู่
 
“การที่จีนเปิดประเทศจะทำให้ท่องเที่ยวไทยค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะครึ่งปีหลัง โดยจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้สูง 20-25 ล้านคน แต่ก็กังวลปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคท่องเที่ยว จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวต่อไปด้วย ส่วนการส่งออกคาดว่าปีนี้อาจเห็นการติดลบในไตรมาส 1-2 จากนั้นจะเริ่มดีขึ้นก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม” นายสนั่นกล่าว
 


อย่างไรก็ตาม ปัญหาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ม.ค.-เม.ย. 66 ที่ปรับขึ้น 13% ทำให้ค่าไฟเฉลี่ยรวมภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องจ่ายอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วยนั้นมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนโดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป ภาคเอกชนจึงหวังว่าในระยะต่อไปค่าไฟฟ้าจะมีทิศทางที่ปรับตัวลดลงได้


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ว่ารัฐจะทบทวนค่า Ft ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ฯลฯ ลดลงจากเดิมเฉลี่ยที่ต้องจ่าย 5.69 บาทต่อหน่วยเหลือ 5.33 บาทต่อหน่วยแต่ก็ยังอยู่ระดับสูงจากที่เอกชนคาดหวังว่าจะคงเดิมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ดังนั้นเดิมที่ประเมินว่าจะกระทบให้ราคาสินค้าเฉลี่ยปรับขึ้น 5-12% จะเหลือเป็น 5-10% ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือล่าสุดภาคเอกชนที่เป็นผู้ลงทุนต่างประเทศที่เคยตกลงจะร่วมทุนกับไทยเริ่มลังเลที่จะทบทวนแผนการลงทุนเพราะปัญหาค่าไฟฟ้าของไทยที่สูง และที่สุดจะกระทบไปถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่อาจชะลอตัวลงได้

ทั้งนี้ กกร.ยังยืนยันจุดยืนเดิมที่เสนอรัฐให้พิจารณาไปแล้ว 5 ข้อเพื่อแก้ไขโครงสร้าง เช่น ปรับโครงสร้างค่าไฟแบบขั้นบันได ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เป็นต้น โดยเป็นการแก้ไขทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ.ด้านพลังงานขึ้นมาร่วมหารือ ซึ่ง กกร.ครั้งนี้ได้มีการหารือในการตั้งคณะทำงานของเอกชนที่จะไปร่วมกับรัฐแล้วเบื้องต้น ซึ่ง กกร.คาดหวังว่าจะเห็นการปรับโครงสร้างที่ชัดเจนไม่ใช่ให้ลุ้นทุก 4 เดือน

“จำเป็นต้องหารือปรับโครงสร้างค่าไฟทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในรายละเอียดต่างๆ อาทิ ล่าสุดรัฐได้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปี 2565-73 รวม 5,203 เมกะวัตต์ แม้จะเป็นพลังงานสะอาดแต่หากสิ่งนี้ไปเพิ่มสำรองไฟฟ้าที่ขณะนี้ก็สูงอย่างมากจนกลายเป็นค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่ผลักภาระมาไว้ในค่าไฟแล้วจะไม่สูงขึ้นอีกหรือ และก่อนหน้าที่หารือรัฐมีการยืนยันปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณจะเพิ่มขึ้นที่อาจเห็นค่าไฟลดลงในช่วงปลายปีได้ ดังนั้นจึงต้องติดตามใกล้ชิด แต่สิ่งที่กังวลหากมีการยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งจะเกิดเกียร์ว่างทำให้การหารือแก้ไขปัญหาค่าไฟไม่อาจคืบหน้า จึงอยากฝากให้ทุกรัฐบาลที่จะเข้ามาให้มองการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าเอาไว้ เพราะล่าสุดโรงพยาบาลบางส่วนได้มีการปรับค่าบริการไปแล้วเพราะรับค่าไฟไม่ไหว ไหนจะการลงทุนที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่น และที่สุดจะทำให้ขีดความสามารถแข่งขันของไทยลดลงได้อีกในปีนี้จึงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น