“อุตตม” มองปี 2566 ศก.ไทยยังเสี่ยง-ท้าทาย เชื่อ ศก.โลกยังผันผวนหนัก ชี้ สัญญาณกระทบส่งออกไทย แนะเครื่องยนต์ท่องเที่ยว ต้องเตรียมตัวหลายด้าน หลังแนวโน้มนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ชี้ ภารกิจรัฐบาลใหม่ต้องประคองเสถียรภาพในภาพรวม พร้อมกู้คืนขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
วันนี้ (5 ม.ค.) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2566 โดยความตอนหนึ่งระบุความท้าทายและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ที่มองว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลักๆของไทยผูกอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ทั้งสหรัฐ จีน และยุโรป กำลังจะชะลอตัวลงพร้อมๆ กัน ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติ เป็นแรงกดดันต้นทุนพลังงาน ส่งผลต่อเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก
“ความจริงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เริ่มส่อแววส่งผลกระทบกับประเทศไทยแล้ว เห็นได้จากตัวเลขส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงติดต่อกัน 2 เดือน (ต.ค.- พ.ย. 2565) ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างคิดเห็นตรงกันว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ จะเผชิญกับปัญหาการลดลงของกำลังซื้อในตลาดโลก” นายอุตตม ระบุ
นายอุตตม ระบุถึงความคาดหวังในด้านการท่องเที่ยวของไทยด้วยว่า ด้านการท่องเที่ยวเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เป็นความหวังของเราในปีนี้ ได้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ประมาณ 20 ล้านคน และประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทยอย่างน้อย 5 ล้านคน รวมตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้น่าจะขยับเป็น 25 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงซึ่งอาจรวมถึงเศรษฐกิจจีน ย่อมกระทบต่อบรรยากาศตลาดการท่องเที่ยวเช่นกัน โดยระหว่างที่ทุกฝ่ายเน้นเตรียมกิจกรรมรองรับนักเที่ยว ภาคเอกชนด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ควรเร่งการยกระดับพัฒนาองคาพยพของภาคการท่องเที่ยวไทยและที่เกี่ยวเนื่องอย่างครอบคลุมไปพร้อมกัน อาทิ การจัดการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนมากที่จะปรับปรุงกิจการสถานที่
“และที่สำคัญยิ่ง การพัฒนาทั้งผู้ประกอบการและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในการยกระดับความรู้ ทักษะและความสามารถ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศให้แข่งขันในเวทีโลกได้เต็มศักยภาพ” นายอุตตม แนะนำ
นายอุตตม ระบุต่อไปถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566 ด้วยว่า ปีนี้หลายท่านอาจตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่ความจริงไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน ภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลในสถานการณ์เช่นนี้ คือ การเร่งรัดเตรียมการรับมือความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยดูแลรักษาเสถียรภาพในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับหนี้สินภาคครัวเรือน ดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการประกอบธุรกิจ การกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ตลอดจนการเรียกคืนขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องบริหารจัดการในเชิงลึก โดยดูแลผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังขาดแคลนเงินทุน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพียงพอ รวมถึงการสนับสนุนให้มีการพัฒนาขีดความสามารถที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในช่วงเวลานี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดและรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินการเหล่านี้ รัฐบาลจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพื่อรวมพลังขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่ตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในปีนี้ต่อเนื่องไปในอนาคตข้างหน้า ผมยังเชื่อว่าปี 2566 จะเป็นปีแห่งความหวังของพวกเราคนไทยได้” นายอุตตม ระบุในช่วงท้าย