เงินเฟ้อ ม.ค. 66 เพิ่ม 5.02% ชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังสินค้าทั้งกลุ่มน้ำมัน อาหาร เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง คาดแนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องหากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติมากดดัน ทั้งปีตั้งเป้า 2-3% ค่ากลาง 2.5%
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ม.ค. 2565 เท่ากับ 108.18 เทียบกับ ธ.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 0.30% เทียบกับเดือน ม.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 5.02% ชะลอตัวลงจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่สูงขึ้น 5.89% และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา
โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2566 สูงขึ้น 5.02% มาจากการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 3.18% ได้แก่ กลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทุกประเภท ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ ทั้งรถเมล์เล็ก รถสองแถว รถแท็กซี่ เครื่องบิน และยังมีการสูงขึ้นของวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงช่าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น สบู่ถูตัว ยาสีฟัน ค่าแต่งผมชาย สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ส่วนสินค้าที่ปรับลดลง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เสื้อและกางเกง ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี
ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 7.70% แต่ก็ชะลอตัวลง โดยอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้น เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ข้าวกล่อง อาหารเช้า ผักและผลไม้สด เช่น ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง แตงโม ส้มเขียวหวาน มะม่วง ข้าวสาร และไข่ไก่ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญยังคงเป็นต้นทุนที่อยู่ระดับสูง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร จากปริมาณที่มีเพียงพอต่อความต้องการ ผักสดและผลไม้บางชนิด เช่น ขิง ถั่วฝักยาว พริกสด แครอท ทุเรียน
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. 2565 และเพิ่มขึ้น 3.04% เมื่อเทียบกับ ม.ค. 2565
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 2566 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี ยกเว้นจะมีสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เหมือนกับปีที่ผ่านมาที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อปีนี้ยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ก็มีแนวโน้มได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า ส่งผลดีต่อต้นทุนนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เงินเฟ้อไม่สูงมากนัก โดยเงินเฟ้อทั้งปียังคงคาดการณ์ 2-3% ค่ากลาง 2.5% ไม่หลุดกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ที่ 1.0-3.0% ยกเว้นมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จะมีการทบทวนอีกครั้ง