xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ยกทีม "คมนาคม" บินญี่ปุ่น หารือ JICA ดูต้นแบบพัฒนา TOD ย่านบางซื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ยกทีม "บิ๊กคมนาคม" บินญี่ปุ่น หารือ JICA ศึกษาต้นแบบความสำเร็จพัฒนา TOD และเมืองอัจฉริยะ
ถกหนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ระบบขนส่งมวลชนไทย คาด M-MAP2 ศึกษาเสร็จปี 67

วันที่ 7 ธ.ค. 2565 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ JICA (Nibancho Center Building) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ Mr. ONODERA Seiichi (นายโอโนะเดะระ ไซจิ) รองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และผู้บริหาร JICA โดยมีนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมการหารือถึงภารกิจการดำเนินงานที่มีร่วมกัน ทั้งการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงคมนาคมกับ JICA

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมกล่าวว่า การประชุมหารือระดับทวิภาคีครั้งนี้ได้หยิบยกประเด็นสำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย 4 ประเด็น ได้แก่

1. การพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (Transit Oriented Development: TOD) และการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งฝ่ายไทยได้เยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และถอดบทเรียนความสำเร็จของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาโครงการของไทย โดยในส่วนของ TOD กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยหลักในการกำหนดขอบเขตและแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับการพัฒนาระบบรางและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ทั้งนี้ JICA ได้ให้ความช่วยเหลือในการศึกษาแผนแม่บทรวมในการพัฒนาพื้นที่บางซื่อซึ่งปัจจุบันได้รับพระราชทานชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท (SRT Asset) จำกัด เพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. และฝ่ายไทยได้ขอให้ JICA พิจารณาสนับสนุนบริษัท SRT Asset ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่บางซื่อ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งต่อไป


2. โครงการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องด้านระบบราง ซึ่ง JICA ให้การสนับสนุนการศึกษาจัดทำแผนงานโครงข่าย M-MAP2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิมให้มีความครอบคลุมและสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต ซึ่งสถานะปัจจุบันโครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) ร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567

ซึ่งไทยได้ขอให้ JICA พิจารณาสานต่อการพัฒนาระบบรางร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อผลักดันนโยบายการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางและการโดยสารของประชาชน


3. โครงการพัฒนาสมรรถนะการบริหารงานโครงการอุโมงค์ในประเทศไทย และการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในการบริหารจัดการจราจรทางถนน ฝ่ายไทยขอบคุณสำหรับการประสานกำหนดการเยี่ยมชมการบริหารงานโครงการอุโมงค์ทางด่วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรฝ่ายไทยที่ได้รับองค์ความรู้ในการเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติงานทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการบริหารโครงการ

ทั้งนี้ ไทยขอให้ JICA พิจารณาสนับสนุนความร่วมมือทางถนนในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุและการจราจรที่ติดขัด เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับระบบการควบคุมสัญญาณไฟจราจรเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรบนท้องถนน โดยดำเนินการร่วมกับกรมทางหลวง รวมถึงพิจารณาสนับสนุนความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบ Big Data ของกระทรวงคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ

4. โครงการความปลอดภัยทางถนน ซึ่ง JICA ได้ดำเนินโครงการความปลอดภัยทางถนนระหว่างปี 2563-2567 ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทย ทั้งในด้านการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศ การศึกษามาตรการด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน การศึกษาด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขับขี่ และการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งจะสานต่อความร่วมมือกันต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น