รมว.คมนาคม ประชุมหารือทวิภาคีกับผู้บริหารองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถกพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทยในด้านต่างๆ
วันนี้ (7 ธ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคี กับ Mr.ONODERA Seiichi (นายโอโนะเดะระ ไซจิ) รองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และผู้บริหาร JICA โดยมีนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือฯ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ JICA (Nibancho Center Building) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า การมาเยือนสำนักงานใหญ่ JICA ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการหารือถึงภารกิจการดำเนินงานที่มีร่วมกัน ทั้งการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงคมนาคมและ JICA และขอขอบคุณนายโอโนะเดะระ ไซจิ รองประธาน JICA ที่เชิญมาเยือนประเทศญี่ปุ่นและให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยการประชุมหารือระดับทวิภาคีครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นสำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ดังนี้
การพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (Transit Oriented Development: TOD) และการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ฝ่ายไทยกล่าวว่า การเยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จะเป็นการถอดบทเรียนความสำเร็จของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาโครงการของไทยโดยในส่วนของ TOD กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นหน่วยหลักในการกำหนดขอบเขตและแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับการพัฒนาระบบรางและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ฝ่ายไทยขอบคุณ JICA ที่ได้ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทรวมในการพัฒนาพื้นที่บางซื่อ ซึ่งปัจจุบันได้รับพระราชทานชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท (SRT Asset) จำกัด เพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ในการนี้ ฝ่ายไทยขอให้ JICA พิจารณาสนับสนุนบริษัท SRT Asset ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่บางซื่อ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งต่อไป
โครงการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องด้านระบบราง ฝ่ายไทยขอบคุณ JICA ที่ให้การสนับสนุนการจัดทำแผนงานโครงข่ายทางราง (M-MAP2) โดยการศึกษาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิม ให้มีความครอบคลุมและสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต ซึ่งสถานะปัจจุบัน โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) ร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 ในการนี้ ฝ่ายไทยขอให้ JICA พิจารณาสานต่อการพัฒนาระบบร่างร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม อาทิ กรมการขนส่งทางราง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันนโยบายการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางและการโดยสารของประชาชน
โครงการพัฒนาสมรรถนะการบริหารงานโครงการอุโมงค์ในประเทศไทย และการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในการบริหารจัดการจราจรทางถนน ฝ่ายไทยขอบคุณสำหรับการประสานกำหนดการเยี่ยมชมการบริหารงานโครงการอุโมงค์ทางด่วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรฝ่ายไทยที่ได้รับองค์ความรู้ในการเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติงานทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการบริหารโครงการ ในการนี้ ฝ่ายไทยขอให้ JICA พิจารณาสนับสนุนความร่วมมือทางถนนในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุและการจราจรที่ติดขัด เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับระบบการควบคุมสัญญาณไฟจราจรเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรบนท้องถนน โดยดำเนินการร่วมกับกรมทางหลวง รวมถึงพิจารณาสนับสนุนความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบ Big Data ของกระทรวงคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ
โครงการความปลอดภัยทางถนน ฝ่ายไทยขอบคุณ JICA ในการดำเนินโครงการความปลอดภัยทางถนนระหว่างปี 2563-2567 ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทย ทั้งในด้านการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศ การศึกษามาตรการด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน การศึกษาด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขับขี่ และการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ ในการนี้ ฝ่ายไทยขอให้ JICA พิจารณาสานต่อโครงการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับกระทรวงคมนาคมต่อไป