รมว.คมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และเตรียมความพร้อมท่าอากาศยาน เพื่อรองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566
วันนี้ (2 ธ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานเพื่อรองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม และมี นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ และประชาชนให้การต้อนรับ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานภูเก็ต
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้ครอบคลุมทั่วถึง ทุกพื้นที่และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างงาน สร้างรายได้ ประชาชน มีความสุข จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ดังนี้
1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคม การส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ดังนี้
1.1 มิติการพัฒนาทางถนน มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เช่น โครงการ ทล. 4027 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ท่าเรืออ่าวปอ ตอน บ้านป่าคลอก-บ้านพารา ระยะทาง 8.10 กิโลเมตร คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2566 การพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เช่น โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ตามแผน จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2570 การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 จำนวน 17 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 โครงการ การพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามัน การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP เป็นโครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางกับภาคอื่นของประเทศไทยได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเส้นทาง โดยมีเส้นทางที่ผ่านจังหวัดภูเก็ต คือ MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต เป็นการเชื่อมโยงแนวเส้นทางการเดินทางและขนส่งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีจุดเริ่มต้น รวมประมาณ 252 กิโลเมตร มีช่วงที่พัฒนามอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ระยะทางรวมประมาณ 155 กม. ประกอบด้วย ช่วงดอนสัก-สุราษฎร์ธานี และช่วงพังงา-ภูเก็ต
1.2 มิติการพัฒนาทางราง ประกอบด้วย
1) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปยังท่าฉัตรไชย คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570
2) แผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560-2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 เส้นทาง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 เส้นทาง ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2566 และแผนพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการและจัดทำรายงาน EIA นอกจากนี้ กระทรวงยังมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ระยะถัดไปอีก 12 เส้นทาง โดยมีเส้นทางที่ผ่านจังหวัดภูเก็ต คือ ช่วงสุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น
3) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยง พื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-MAP) โดยมีแนวเส้นทางโครงการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 สถานี ผ่านพื้นที่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร
1.3 มิติการพัฒนาทางน้ำ ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อสามารถรองรับเรือครูซขนาดเล็กได้ และเสนอแนวทาง การพัฒนาให้มี Landing Pier ที่อ่าวป่าตอง การพัฒนา Smart Pier ท่าเรือในจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) และการขุดลอกร่องน้ำภูเก็ต (ท่าเรือน้ำลึก) จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการขุดลอกแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565
1.4 มิติการพัฒนาทางอากาศ สำหรับท่าอากาศยานที่อยู่ในภาคใต้มีจำนวน 11 แห่ง ปัจจุบันมีแผนการพัฒนา จำนวน 8 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 6 แห่ง และได้รับงบประมาณดำเนินการในปี 2565 เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการ ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขยายหลุมจอดอากาศยาน ลานจอดอุปกรณ์ภาคพื้น และการขยายขีดความสามารถระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับได้ 12.5 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 ส่วนการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานพังงา) ณ ตำบลโคกกลอยและตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างทบทวนข้อกำหนดรายละเอียดการศึกษาในการจ้างศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการในเบื้องต้น เพื่อให้สอดคล้องกับมติ ครม. ที่ให้ ทอท. เข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยาน
2. การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) เพื่อรองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ประกอบด้วย
2.1 การเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการในช่วงผู้โดยสารหนาแน่น โดยใช้ระบบติดตาม และตรวจนับความหนาแน่นของผู้โดยสาร REAL-TIME PASSENGERTRACKING SYSTEMS
2.2 การเตรียมความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย เก้าอี้พักคอย ห้องน้ำ รถเข็นสัมภาระ เคาน์เตอร์ด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากรให้เพียงพอต่อการให้บริการ
2.3 มาตรการการรักษาความความปลอดภัยผู้โดยสาร โดยตรวจสารเสพติดและแอลกอฮอล์ ของผู้ให้บริการ จัดโครงการท่าอากาศยานสีขาวเพื่อป้องกันและปราบปรามการแสวงหาผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยว
2.4 การบริหารจัดการหลุมจอดอากาศยาน โดยพิจารณาจัดสรรให้เที่ยวบินเข้าจอดในหลุมจอดประเภท CONTACT GATE ให้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สายการบินและผู้โดยสาร
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้การเชื่อมต่อด้านคมนาคมขนส่งทุกโหมดการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้
1) การดำเนินโครงการต่างๆ ขอให้คำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชน โดยต้องดำเนินการเชิงรุก ตั้งแต่ก่อนดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2) ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งรัดดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตโดยแบ่งเป็นระยะ และจะต้องยึดหลักสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สะอาด ราคาเป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3) ให้สนับสนุนการดำเนินโครงการต่างๆ ทางน้ำในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการจำนวนมาก และให้กรมเจ้าท่า (จท.) นำระบบ AI เข้ามาจัดระเบียบผู้ใช้เรือเพื่อความปลอดภัย
4) เร่งพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เชื่อมต่อกับการขนส่งในโหมดอื่นๆ
5) ให้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดอย่างต่อเนื่อง ครบทุกมิติ เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน
6) การดำเนินการในทุกขั้นตอนขอให้ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด
7) ในการดำเนินการก่อสร้างให้หน่วยงานคมนาคมในพื้นที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันในทุกมิติ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน
ซึ่งในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พบปะพี่น้องประชาชนชาวพัทลุงที่มารอต้อนรับ และขอขอบคุณที่ผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาให้เกิดขึ้นจริง หลังจากที่รอคอยมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งหากโครงการนี้แล้วเสร็จ นอกจากจะย่นระยะทางการเดินทางแล้ว ยังจะทำให้เกิดประโยชน์กับการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีอาชีพประมงและเกษตรจะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย