xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ดันแผนพัฒนาสนามบิน ปี 66 ประมูลดอนเมืองเฟส 3-ทบทวนแผนแม่บทสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” สั่ง ทอท.เร่งพัฒนาสนามบิน รับผู้โดยสารฟื้นก้าวกระโดด ปี 66 ดันประมูลดอนเมืองเฟส 3 และอาคารตะวันออก "สุวรรณภูมิ" คาดทบทวนแผนแม่บทจบกลางปี 66 เป้ารับ 120 ล้านคน

วันที่ 1 ธ.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก “Resilience, Reunion and Reinventing for Aviation Sustainability” (พลิกฟื้นคืน มารวมกัน และรังสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนทางการบิน) จัดโดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม, AOT, Mr.Tao Ma ผู้อำนวยการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก Mr. Stefano Baronci ผู้อำนวยการสภาท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และผู้บริหารจากท่าอากาศยานที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมการประชุมฯ และมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement) กับ ทอท. ครอบคลุมท่าอากาศยานจำนวน 17 แห่งใน 10 ประเทศ

นายศักดิ์สยามเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการเติบโตอุตสาหกรรมการบินเป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 85,000 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่ทำให้ต้องปรับตัวและแก้ปัญหาจากการที่จำนวนผู้โดยสารทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลง รวมทั้งส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 ของโลกดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ธุรกิจการบินและธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวและสามารถดำเนินกิจการได้ดีขึ้น

จากข้อมูลปริมาณการเดินทางผ่านท่าอากาศยาน เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,031,971 คน เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ซึ่งมีผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนละ 1,229,399 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.62 ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรที่บริหารจัดการท่าอากาศยานจะต้องมีแผนนโยบายและแนวทางในการฟื้นฟูและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน ซึ่งเชื่อมั่นว่าการประชุม AOT Sister Airport CEO Forum 2022 ในครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความคิดที่จะเสริมสร้างความร่วมมือของทุกองค์กรในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศในระดับนานาชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการพัฒนาสนามบินและระบบโลจิสติกส์ทั้ง 4 มิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ให้มีความสะดวก สบาย ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดการณ์ว่าการเดินทางทางอากาศจะกลับมาเป็นปกติในปี 2567 และจากการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่าปี 2577 จะมีการเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นลำดับที่ 9 ของโลกหรือไม่น้อยกว่า 200 ล้านคนต่อปี ดังนั้น ทอท. จะต้องเดินหน้าแผนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งการขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก (East Expansion) อาคารผู้โดยสารด้านตะวันตก (West Expansion) และอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นให้ทันเวลา

“คาดว่าในส่วนของอาคารด้านตะวันออกคาดว่าจะเปิดประกวดราคาภายในปี 2566 ส่วนอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันตก (West Expansion) และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศเหนือ (North Expansion) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทบทวนแผนแม่บท ซึ่งต้องรอรัฐบาลหน้ามาผลักดันต่อ ส่วนสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้วเตรียมประกวดราคาในปี 2566 ได้ตัวผู้รับจ้างปี 2567 ก่อสร้างส่วนของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่แล้วเสร็จปิดบริการในปี 2570”

@ทบทวนแผนแม่บท "สุวรรณภูมิ" ปีหน้า ขยายรับ 120 ล้านคน

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแบบส่วนต่อขยาย อาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก (East Expansion) เบื้องต้นคาดว่ากรอบวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 8 พันล้านบาท เป็นประมาณ 9,000 -10,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบวงเงินรวมของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ที่ 62,000 ล้านบาทโดยปัจจุบันยังเหลือวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท

คาดว่าจะเสนอแผนลงทุนอาคารด้านตะวันออกต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ในเดือน มี.ค. 2566 ตากนั้นจะเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ครม. คาดเปิดประกวดราคาภายในกลางปี 2566 และได้ผู้ชนะประมูลภายในปี 2566 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 2571 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ประมาณ 15 ล้านคนต่อปี

ส่วนแผนการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion) และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วเสร็จ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการว่าจ้างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO ) ศึกษาทบทวนวงเงินประมาณ 20 ล้านบาท โดยจะลงนามสัญญาว่าจ้างภายในเดือน ธ.ค. 2565 ระยะเวลาศึกษา 9 เดือน ทั้งนี้ในกลางปี 2566 จะเห็นความชัดเจนของ แผนแม่บทและแนวทางการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ขยายรองรับ 120 ล้านคนต่อปี




กำลังโหลดความคิดเห็น