xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว ทุ่ม 3.68 หมื่นล้านพัฒนา "ดอนเมือง" เฟส 3 ตอกเข็มปี 67 ผุดอาคารระหว่างประเทศหลังใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.ไฟเขียว "ดอนเมือง" เฟส 3 วงเงิน 3.68 หมื่นล้านสร้างอาคารระหว่างประเทศหลังใหม่ รองรับ 40 ล้านคนต่อปี สร้างปี 67 เสร็จปี 72 ด้าน ทอท.เตรียมเปิด PPP ผุด Junction Building และอาคารจอดรถยนต์ 10,000 คันพร้อมทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 พ.ย. 2565 มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) วงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารจากปัจจุบันที่ 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565

สำหรับการพัฒนาจะประกอบด้วย งานหลักๆ ได้แก่ 1. การสร้างอาคารผู้โดยสาร 3 ซึ่งจะเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่อาคารรวมทั้งสิ้น 166,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนเคาน์เตอร์เช็กอิน ช่องตรวจค้น จุดตรวจหนังสือเดินทาง รวมถึงพื้นที่โถงพักคอยผู้โดยสาร และเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบ Self Check in, Self Bag drop และ Early Baggage รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ถึง 18 ล้านคนต่อปี สร้างศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางของสายการบินต้นทุนต่ำระหว่างประเทศ

2. การปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 โดยจะทำการปรับปรุงภายในอาคารใหม่ทั้งหมด และรวมพื้นที่การให้บริการเข้ากับอาคารผู้โดยสาร 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศมีพื้นที่ให้บริการรวม 240,000 ตารางเมตร เพิ่มพื้นที่การให้บริการผู้โดยสารในประเทศถึง 2.25 เท่า เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้ง Counter Check in จุดตรวจค้น สะพานเทียบอากาศยาน สามารถรองรับผู้โดยสารในประเทศได้ถึง 22 ล้านคนต่อปี คืนศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการบินในประเทศ

3. การปรับปรุงระบบการจราจรเข้าและออกสู่สนามบินดอนเมือง โดยการก่อสร้างสะพานเชื่อมทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์กับถนนภายในสนามบินดอนเมือง ทั้งขาเข้า และขาออก เพิ่มเติม 2 จุด และปรับปรุงขยายช่องทางจราจรหน้าอาคารผู้โดยสารเป็น 6 ช่องทาง พร้อมปรับปรุงช่องทางออกด้านทิศใต้เพื่อลดการติดขัดของระบบจราจรภายในสนามบินดอนเมือง

4. การขยายพื้นที่ลานจอดอากาศยาน ปรับปรุงอาคารสินค้า อาคารสำนักงาน และระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกิจกรรมทางการบินและการขนส่งทางอากาศ


นอกจากนี้ ทอท.จะดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ก่อสร้างอาคาร Junction Building และอาคารจอดรถยนต์อัจฉริยะเพิ่มเติมในจุดต่างๆ อีก 5 จุด เพื่อเพิ่มพื้นที่จอดรถยนต์ให้แก่ผู้โดยสารได้มากถึง 10,000 คัน และดำเนินการสร้างทางเชื่อมต่อการเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยมีจุดเชื่อมต่อสู่สถานีรถไฟฟ้า 3 จุด ได้แก่ อาคาร Junction Building อาคารผู้โดยสารอาคาร 3 และอาคารจอดรถยนต์ด้านทิศใต้ ทำให้ผู้โดยสาร และประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางสู่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกสบาย

โดยจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2567-2572 (ระยะเวลา 7 ปี) โดยอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศแห่งใหม่จะแล้วเสร็จในปี 2570 และการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 และ 2 จะแล้วเสร็จในปี 2572 เมื่อโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด และเปิดให้บริการ จะทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองมีบทบาททางยุทธศาสตร์เป็น “ท่าอากาศยานที่รวดเร็วและสะดวกสบาย” หรือ “Fast and Hassle-free Airport” เพื่อเป็นศูนย์กลางของสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิสูงถึง 240,465 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 50.71




กำลังโหลดความคิดเห็น