ทอท.คาดปี 66 ฟื้นตัวมีกำไรหลักพันล้านบาท ลุ้นนักท่องเที่ยวจีนดันรายได้ทั้งปีเพิ่ม เผยไตรมาสแรกสดใส EBITDA บวก เตือนการบินไทยแก้รอกระเป๋านาน คาดบอร์ด PPP ไฟเขียวเร่งเปิดประมูลให้บริการภาคพื้นรายที่ 3
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2566 (ต.ค. 65-ธ.ค. 65) ตัวเลข EBITDA จะเป็นบวก และมีกำไรสุทธิเล็กน้อย และประเมินว่าปี 2566 จะมีกำไรในทุกไตรมาส และหากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาจะมีส่วนเพิ่มรายได้และกำไรที่มากขึ้น โดยคาดการณ์กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ระดับพันล้านบาท แต่ยังคงไม่กลับไปที่ระดับหมื่นล้านบาทเหมือนช่วงก่อนโควิด
โดยช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทอท.มีรายได้เฉลี่ย 60,000 ล้านบาทต่อปี มีรายจ่าย 30,000 ล้านบาทต่อปี มีกำไรสุทธิกว่า 26,000 ล้านบาท โดยสนามบิน 6 แห่งมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 380,000-390,000 คนต่อวัน
ปี 2565 จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งปีกลับมาอยู่ในระดับ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศถือว่ากลับมาในระดับเกือบเท่าเดิมแล้ว ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศกลับมาแล้วประมาณ 70% ส่วนที่ยังไม่มาคือ นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเดิมมีสัดส่วนราว 26% จากจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มีผู้โดยสารจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ ซาอุดีอาระเบีย และอินเดียที่เข้ามาเพิ่มในระดับหนึ่ง
ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน พบว่าเดือน พ.ย. 2565 จำนวนผู้โดยสารรวมอยู่ที่ 260,000-270,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนต.ค. 2565 ที่มีจำนวน 190,000 คนต่อวัน สำหรับปริมาณเที่ยวบินตอนนี้กลับมาที่ระดับ 60-70% แล้ว สำหรับปี 2567 คาดว่าปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารจะกลับไปเท่าปี 2562 แน่นอน
“SLOT ยังไม่กลับมา 100% แต่ทำไมสุวรรณภูมิถึงมีภาพผู้โดยสารที่แน่นในบางช่วงเวลา แต่บางช่วงก็ว่างมาก ซึ่งอธิบายว่า เมื่อผู้โดยสารกลับมาแค่ 70% แต่ทำไมแน่นในบางช่วงเวลา เพราะไม่ได้เกลี่ยกระจาย SLOT นั่นเอง”
นายนิตินัยกล่าวว่า ทอท.ยังคงกำหนดการเปิดให้บริกรอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิในเดือน ก.ย. 2566 แต่ขณะนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความเป็นห่วงเรื่องความแออัดการให้บริการ ซึ่งขณะนี้คณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกำลังพิจารณาแก้ปัญหาความคับคั่ง โดยปัจจุบันอาคาร SAT-1 ก่อสร้างเสร็จแล้ว หากนโยบายให้เปิดก็พร้อมเปิด แต่ต้องพิจารณาให้ครบถ้วน เนื่องจากการเปิดอาคาร SAT-1 นั้น ทอท.จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน
ปัจจุบันพบปัญหาความคับคั่งที่ตรวจคนเข้าเมือง และบริการภาคพื้นบริการกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งไม่เกี่ยวกับพื้นที่ บริการ จึงยังไม่มีสัญญาณความจำเป็นที่จะเปิด SAT-1 และหากเข้าตารางบินฤดูร้อนปี 2566 จะเป็น Low Season ความหนาแน่นอาจลดลง
สำหรับปัญหาการบริการกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารล่าช้าที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น ทอท.ได้ส่งหนังสือตักเตือนไปยัง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ให้ดำเนินการแก้ไขภายใน 90 วันตามสัญญา ซึ่งการบินไทยแจ้งว่าขาดบุคลากรยกกระเป๋า 26 คน ซึ่งจะต้องเร่งจัดหา
ส่วนการเปิดหาผู้ให้บริการภาคพื้น (Ground Handling) รายใหม่นั้น ทอท.เสนอเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อบรรจุเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ในเดือน ธ.ค. 2565 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนได้ช่วง ม.ค.-ก.พ. 2566
โดยจะมีการกำหนดคุณสมบัติสำคัญคือ 1. แผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง Business continuity plan (BCP) 2. เข้าทำงานได้รวดเร็ว 3. มีเทคโนโลยีมาร่วมบริหารจัดการและเชื่อมโยงกับระบบของทอท.
ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้ให้บริการภาคพื้น (Ground Handling) จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งบริการ 80% สัญญาจะครบกำหนดปี 2582 ยังไม่ถึงเวลาในการพิจารณาต่อสัญญา
และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลทฺเซอร์วิส จำกัด (BFS) ส่วนแบ่งบริการ 20% สัญญาจะครบกำหนดปี 2568 ซึ่ง ทอท.จะพิจารณาผลการทำงานและต่ออายุสัญญาให้ ระยะสัญญาไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ส่วนบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) บริษัทลูกของทอท. ปัจจุบันให้บริการภาคพื้นที่ สนามบินดอนเมืองและสนามบินภูเก็ต อยากเข้าบริการภาคพื้นฯรายที่ 3 แต่ทางคณะกรรมการ PPP เห็นว่า ไม่เข้าข่าย เพราะยังไม่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่ AOTGA สามารถเข้าร่วมประมูลได้
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องกระเป๋าสัมภาระล่าช้า กำหนดแนวทางการแก้ปัญหา 3 ระยะ โดยระยะเร่งด่วนผู้ให้บริการ 2 รายปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้การบินไทยมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือและบุคลากร ที่เหลือเพียง 30% จากที่เคยทำได้ปี 2562 ต้องแก้ไขภายในเวลา 30 วัน ในทางคู่ขนานจะหารือกับสายการบินที่มีศักยภาพในการบริการตัวเอง ส่วนระยะยาวจะหาผู้ให้บริการรายใหม่เพื่อรองรับการบินที่กลับมาฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด