"สุพัฒนพงษ์" โยน "กกพ." เร่งสรุปตัวเลขค่าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย. 66 รับเน้นดูแลภาคครัวเรือน ส่วนสุดท้ายจะเป็นอัตราใดอยู่ที่ กกพ.นำมติ กพช.ไปพิจารณาดำเนินการ ส่วนดีเซลยังคงตรึง 35 บาทต่อลิตรแม้ตลาดโลกลดลง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณาประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการลดภาระค่าไฟช่วงวิกฤตพลังงานชั่วคราว โดยเน้นการบริหารก๊าซฯ เช่นจัดสรรก๊าซอ่าวไทยใช้สำหรับการผลิตไฟให้ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยก่อน พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือ บมจ.ปตท.จัดสรรเงินราว 6,000 ล้านบาท (ม.ค.-เม.ย. 66) มาดูแลต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟและก๊าซหุงต้ม (LPG) ดังนั้นแนวทางนี้จะช่วยตรึงค่าไฟฟ้าให้บ้านที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
"กพช.ได้กำหนดแนวทางที่จะไปช่วยเหลือการลดค่าไฟฟ้าลงโดยเฉพาะการช่วยเหลือประเภทบ้านที่อยู่อาศัยซึ่งใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ค่าไฟภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมไม่เท่ากันแต่เราก็ทำแค่ชั่วคราว ดังนั้นทาง กกพ.เองจะเป็นผู้พิจารณาเพื่อที่จะให้ประชาชนได้เตรียมตัว" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นหลังจากกลุ่มโอเปกพลัสได้คงการลดกำลังการผลิตไว้ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันตามเดิม อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังคงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยในส่วนของราคาขายปลีกดีเซลยังคงตรึงไว้ที่ 35 บาทต่อลิตรขณะนี้แม้ว่าราคาตลาดโลกจะอ่อนตัวลงจนทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถเรียกเก็บเงินเข้าสะสมได้ราว 3 บาทต่อลิตรเนื่องจากฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิยังคงติดลบ 129,426 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 87,237 ล้านบาท บัญชีแอลพีจีติดลบ 44,189 ล้านบาท
"แม้จะเก็บเงินได้เพิ่มแต่การลดราคาขายปลีกให้ประชาชนส่วนของดีเซลอย่าลืมเรายังมีภาระหนี้กองทุนฯ และสำคัญเรายังลดภาษีสรรพสามิตให้อีก 5 บาทต่อลิตร ราคานี้ก็ต่ำกว่าเพื่อนบ้านมากแล้ว" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว