จับตาบอร์ด ปตท.ชี้ขาดวงเงินสนับสนุน 6 พันล้านบาทอุ้มค่าไฟตามมติ กพช.ในเร็วๆนี้ ขณะที่ปีหน้าราคา LNG ตลาดจรส่อแววพุ่งต่อเฉลี่ย 43-48 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู โดยไทยต้องนำเข้า LNG ตลาดจรราว 3 ล้านตัน ขณะที่ราคาน้ำมันปรับลดลงอยู่ที่กรอบ 85-95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 มีมติขอความร่วมมือจาก ปตท. จัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 66) รวม 6,000 ล้านบาท มาช่วยอุ้มค่าไฟฟ้านั้น ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานของชาติและเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งแนวทางการช่วยเหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างรอบคอบ
ส่วนแนวโน้มราคาพลังงานในปี 2566 ท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกและนโยบาย Zero Covid ของจีนกดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีหน้าจะอ่อนตัวลงจากปีนี้ที่เฉลี่ย 96-101 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ในกรอบ 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปีหน้า ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดอ่อนตัวลงด้วย ส่งผลให้ค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ (Market GRM) ในปี 2566 ย่อตัวลงมาอยู่ที่ 7.3-8.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีนี้ GRM อยู่ที่ 9.6-10.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) ในปีหน้าสูงขึ้น คาดว่าอยู่ที่ 43-48 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากปีนี้ที่เฉลี่ย 33-38 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูเนื่องจากปริมาณการส่งก๊าซฯ จากรัสเซียหายไปจากตลาด และการเข้าสู่ฤดูหนาวที่ล่าช้า
ในปีหน้าราคาปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ คาดว่าราคาจะปรับลดลงทุกผลิตภัณฑ์ราว 4-6% เมื่อเทียบจากปีนี้ เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า การควบคุมโควิด-19 ในจีน อุปทานกำลังผลิตใหม่ที่เข้ามาในตลาดมากขึ้นเกินความต้องการใช้ กดดันให้มีการใช้อัตรากำลังการผลิตโรงอะโรเมติกส์เหลือเพียง 70% และโรงโอเลฟินส์ 80% ของกำลังการผลิต ขณะที่ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นช่วยดันราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับขึ้นมาได้บ้าง
สำหรับการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งปิโตรเลียม G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ปี 2566 จะทยอยผลิตก๊าซฯ ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 300-400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และในปี 2567 จะกลับมาผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศกฟุต/วัน ทำให้ปี 2566 จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 3 ล้านตันเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนธุรกิจไฟฟ้า คาดว่าความต้องการใช้ในประเทศจะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ แต่ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงจะกดดันต้นทุนเชื้อเพลิง
นายธรพลกล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจ Future Energy ในส่วนของ EV Chargers ของ “อรุณ พลัส” ตั้งเป้าหมายจะมีปั๊มชาร์จ EV อยู่ที่ 3,850 ยูนิต ภายในปี 2566 และ OR ตั้งเป้าจะมี 850 สถานีภายในปี 2566 ขณะที่ธุรกิจใหม่จะมีการรับรู้รายได้ธุรกิจยาเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งในปีหน้าก็จะรับรู้เต็มปี
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า ปตท.จะมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงแยกฯ แห่งที่ 2 และ 3 เป็นเวลา 15-20 วัน ส่วนของปิโตรเคมีและโรงกลั่นก็จะมีหยุดดำเนินการตามการปิดซ่อมบำรุงของโรงแยกก๊าซฯ
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขอความร่วมมือจาก ปตท.จัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 66) มาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งให้ ปตท.คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช.มีมติเป็นต้นไป
แหล่งข่าว ปตท.กล่าวว่า ปตท.ต้องเร่งนำมติ กพช.ดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาในเร็วๆ นี้ หลังจากก่อนหน้านี้บอร์ดฯ ปตท.ได้อนุมัตินำเงินจำนวน 3,000 ล้านบาทส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง