xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ปตท.กำไร 9 เดือน 1.69 แสนล้าน วูบ 9.3% พร้อมรับมือความท้าทาย ศก.โลกผันผวนปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2565 ของ ปตท.และบริษัทในเครือมีกำไรสุทธิปรับลดลงเกือบทุกบริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาส 2/2565 มีเพียง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. บริษัทเดียวที่มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นตามปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น

บริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่มีผลประกอบการในไตรมาส 3/2565 ลดลงมากสุด หนีไม่พ้น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่กำไรลดลงมากกว่า 200% ตามมาด้วย บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และ บมจ.ปตท. (PTT) เป็นต้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงการบันทึกขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยง ขาดทุนจากการทำสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

แต่หากพิจารณาผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปี 2565 พบว่ามีเพียง 3 ใน 7 บริษัทที่มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้น คือ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) PTTEP และ OR ที่มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้น 331% 95.9% และ 21.9% ตามลำดับเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สืบเนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย และได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ดีดตัวสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้ออยู่

อย่างไรก็ดี ปตท.และบริษัท Flagship มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2565 รวมทั้งสิ้นประมาณ 18,237 ล้านบาท ลดลงสูงถึง 81.3% จากช่วงไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 97,372 ล้านบาท และลดลงจากช่วงไตรมาส 3/2564 ที่มีกำไรสุทธิรวม 48,251 ล้านบาท ลดลง 62.2%

ขณะที่งวด 9 เดือนแรกปีนี้ ปตท.และบริษัทในกลุ่มมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นราว 168,816 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบจาก 9 เดือนปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิรวม 186,111 ล้านบาท ปรับลดลง 9.3% สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 3/2565 ทำให้กลุ่ม ปตท.มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันลดลงถึง 17,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ (สเปรด) ธุรกิจปิโตรเคมีเองก็ปรับตัวลดลงและมีปริมาณขายที่ลดลงด้วยจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงาน กอปรกับภาพรวมตลาดปิโตรเคมีที่ผ่านมาอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง กำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดมากกว่าความต้องการใช้ที่ได้รับผลกระทบจากตลาดชะลอตัวลงจากจีนที่ยังคงล็อกดาวน์จากนโยบาย Zero Covid รวมทั้งการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ ภาษีเงินได้ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น มีเพียง ปตท.สผ.ที่มีผลการดำเนินงานเติบโตเพิ่มขึ้นตามราคาขายและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น


ปี 66 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 85-95 เหรียญ/บาร์เรล

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานในปี 2566 ยังคงอยู่ท่ามกลางความผันผวน ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2566 ในกรอบ 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขณะที่อุปทานน้ำมันจากรัสเซียอาจจะหายไปจากตลาด หลังสหภาพยุโรปคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบในปลายปีนี้ คงต้องดูว่ากลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) จะเพิ่มการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากรัสเซียได้หรือไม่ รวมไปถึงการยกเลิกคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และเวเนซุเอลาเพื่อเพิ่มอุปทานน้ำมันดิบเข้ามาในตลาด

ทั้งนี้ ปตท.ติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมและจัดหาพลังงานรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเดินหน้าการลงทุนภายใต้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในการมุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจน และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น Life Sciences, Mobility & Lifestyle, ธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม, โลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน AI&Robotic เต็มที่

ควบคู่กับการดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี ค.ศ. 2030 และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ

นายอรรถพลกล่าวว่า ในไตรมาส 4/2565 เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของสหรัฐฯ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จีนยังคงนโยบายปิดเมืองส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันจริงก็ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลกระทบต่อค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5-4.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากอุปทานที่ลดลงท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ระดับ 96-101 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นสิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 9.6-10.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีก็มีแนวโน้มปรับลดลงจากไตรมาส 3/2565 เนื่องจากกำลังซื้อยังคงอ่อนแอตามเศรษฐกิจที่ซบเซา รวมทั้งกำลังการผลิตใหม่จากจีนและซาอุดีอาระเบียเข้ามากดดันตลาด

ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 นี้คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3/2565 มาจากการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้น


ปตท.สผ.ยันปี 66 ยอดขายโตต่อเนื่อง

ด้าน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ในปีนี้ถือว่าเป็นพระเอกในกลุ่ม ปตท. มีผลประกอบการเติบโตอย่างโดดเด่นเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้นด้วยมาจากโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) หลังจากบริษัทเข้าเป็นผู้ดำเนินการเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 และจากโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งได้เพิ่มปริมาณการผลิตรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ

สำหรับผลประกอบการ ปตท.สผ.ในไตรมาส 4/2565 คาดว่า ปตท.สผ.มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2565 มาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นในโครงการจี 1/61 แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ รวมถึงจะรับรู้โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซ ที่จะเข้ามาเพิ่ม ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2565 นี้จะปรับตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ดังนั้นในปี 2565 มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 468,000 บาร์เรลต่อวันได้ตามเป้าหมาย และแนวโน้มปี 2566 ปตท.สผ.มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเติบโตขึ้นอีก

เนื่องจาก ปตท.สผ.ได้มีการขยายการลงทุนในประเทศเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการขยายการลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสิทธิ (Farm In Agreement) เพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 25 ในแปลงสำรวจ ชาร์จาห์ออนชอร์ แอเรีย เอ (Sharjah Onshore Area A) ซึ่งเป็นโครงการก๊าซธรรมชาติบนบก ตั้งอยู่ตอนกลางในรัฐชาร์จาห์ ยูเออี จากบริษัท อีเอ็นไอ ชาร์จาห์ บี.วี. ในเครือของบริษัท อีเอ็นไอ (Eni) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของประเทศอิตาลี นับเป็นการลงทุนโครงการที่ 5 ของ ปตท.สผ.ในยูเออีนับตั้งแต่เริ่มลงทุนในปี 2562 โดยดีลดังกล่าวคาดว่าการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในปี 2565 พร้อมกับมองหาโอกาสการลงทุนที่จะขยายไปยังแหล่งก๊าซใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เน้นการลงทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาด ทำให้มีความต้องการใช้ต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานจากฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดในอนาคต

ส่วนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย TOP PTTGC และ IRPC พบว่าผลดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 ปรับลดลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบจากไตรมาส 2/2565 โดยเฉพาะ PTTGC ขาดทุนสุทธิ 13,384 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่มีกำไร 1,388 ล้านบาท IRPC ขาดทุนสุทธิ 2,549 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนกำไรสุทธิ 3,833 ล้านบาท และ TOP มีกำไรสุทธิลดเหลือเพียง 12 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิ 25,327 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาส 4/2565 TOP มีค่าการกลั่น (GRM) ฟื้นตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน ที่มีค่าการกลั่น (GRM) อยู่ที่ 6.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาน้ำมันดิบพรีเมียมปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3/2565 ส่วนราคาน้ำมันดิบมีทิศทางฟื้นตัวมีราคาปิดอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้การขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันไม่มากในไตรมาส 4 นี้ ส่วนปีหน้า คาดว่า GRM จะปรับเข้าสู่ระดับปกติแต่ยังยืนเหนือระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีทั้งสายอะโรเมติก และโอเลฟินส์ปี 2566 มาร์จิ้นน่าจะอ่อนตัวลงจากปีนี้ เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดโลก จึงไม่เป็นผลดีต่อ PTTGC และ IRPC จึงเป็นเหตุผลสำหรับที่ทั้งสองบริษัทหันไปต่อยอดลงทุนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าการขายเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไป รวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการ Allnex ของ PTTGC


GPSC ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าปีนี้ มาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่มีปัจจัยลบจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ยังทรงตัวในระดับสูงโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ

ในปี 2566 บริษัทยังเดินหน้าขยายการลงทุนพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ 50% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 34% ล่าสุดบริษัทจะยื่นเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามที่รัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ บริษัทจะยื่นเสนอขายไฟฟ้าประเภทโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ขณะเดียวกันมองหาโอกาสในการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม

รวมทั้งรุกตลาดแบตเตอรี่ โดยจะส่งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง GPSC กับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ป้อนแบตเตอรี่ให้กับโรงงานร่วมทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปตท.ได้จับมือกับ Foxconn ตั้งโรงงานรับจ้างผลิตรถ EV ในประเทศไทย


OR อัดงบ 5 ปีแสนล้าน รุกธุรกิจ Mobility-Lifestyle

สำหรับผลประกอบการของ OR งวด 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิจำนวน 11,114 ล้านบาท เติบโตขึ้น 21.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,993 ล้านบาท เป็นผลจากบริษัทมีรายได้ขายและบริการเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มีปริมาณขายปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ

กอปรกับบริษัทได้มีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในธุรกิจ Lifestyle และมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการ Platform ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบยกระดับการให้บริการการเคลื่อนที่ หรือ Mobility as a Service (MaaS) ตามพันธกิจการสร้าง Seamless Mobility รวมทั้งการขยาย Café Amazon ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อมุ่งสู่การเป็น Global Brand

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 4 นี้ OR ยังมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Mobility & Lifestyle อำนวยความสะดวกให้ทุกการเดินทางเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR กล่าวว่า ขณะนี้ยอดจำหน่ายน้ำมันเติบโตสูงขึ้นจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่นมีร้านค้าและเน็ตเวิร์กครบครัน (One Stop Service) ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครบทุกด้าน ทำให้มีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยเกือบ 4 ล้านคนต่อวัน จากเดิมที่อยู่ราว 3 ล้านคนต่อวัน ส่งผลให้ OR มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) เพิ่มขึ้นอีกเป็น 43.2% จากปีก่อนมีมาร์เกตแชร์ 41.8% คาดว่าปี 2566 บริษัทมั่นใจยอดขายน้ำมันเติบโตขึ้นต่อเนื่องเนื่องจากมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มอีกราว 100 สาขา จากปัจจุบันที่มีจำนวน 1,957 แห่ง และร้าน Café Amazon เปิดเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 400 สาขา จากปัจจุบันที่มีจำนวน 3,927 สาขา

รวมทั้งมีแผนการขยายสถานีชาร์จ EV เพิ่มขึ้นอีก 500 จุด จากปีนี้จะมีสถานีชาร์จ EV ต่ำกว่าเป้าทำได้เพียง 300 จุด แต่ครอบคลุมในเส้นทางสายหลักๆ รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรในแบบ inclusive growth ที่มุ่งเน้นเติบโตในแบบ Outside-In Growth โดยแสวงหาโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตร โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของ OR เช่น เครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน เครือข่ายร้านค้าต่างๆ (Physical Platform) ควบคู่กับ Digital Platform ตามวิสัยทัศน์ Empowering All toward Inclusive Growth หรือเติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน

แผนการลงทุน 5 ปี (2566-70) OR ตั้งงบลงทุนจำนวน 101,486.8 ล้านบาท แบ่งตามกลุ่มธุรกิจหลักดังนี้ คือ ธุรกิจ Mobility 31,355.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30.9% ธุรกิจ Lifestyle จำนวน 33,861.7 ล้านบาท คิดเป็น 33.3% ธุรกิจ Global วงเงิน 16,410.3 ล้านบาท คิดเป็น 16.2% ธุรกิจ Innovation & New businesses วงเงิน 19,859.7 ล้านบาท คิดเป็น 18.6% เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในประเทศไทยในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Oil Ecosystem) และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) และยังแสวงหาการเติบโตในต่างประเทศผ่านการขยายเครือข่ายไปยังประเทศใหม่ๆ ร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ (Asset-Light Growth) ในตลาดใหม่ และยังแสวงหาธุรกิจใหม่ต่อยอดในธุรกิจปัจจุบัน


ล่าสุด OR พร้อมสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้บริษัทพันธมิตรที่ OR ร่วมทุนด้วยในการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ โอ้กะจู๋ ที่ OR ถือหุ้นอยู่ 20% ตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการขยายสาขาแบรนด์โอ้กะจู๋ ขยายแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ, พัฒนาแฟลตฟอร์มรองรับการขาย ขยายฟาร์ม และใช้คืนหนี้สินบางส่วน

บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ วางเป้าหมายรายได้ในปี 2567 เติบโตขึ้นแตะ 2,000 ล้านบาท จากปี 2565 ที่มีรายได้ 1,200 ล้านบาท ซึ่งในปี 2566 บริษัทก็มีแผนเพิ่มอีกจำนวน 6 สาขา โดยจะเน้นไปที่ภาคตะวันออกและกรุงเทพฯ จากปัจจุบันมีสาขาหลักอยู่ทั้งสิ้น 18 สาขา

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนราคาพลังงาน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และความกังวลการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ฯลฯ ทำให้ ปตท.และบริษัทในเครือต้องบริหารจัดการอย่างรอบคอบ และรักษาสภาพคล่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ปตท.เองในฐานะรัฐวิสาหกิจก็มีความรับผิดชอบในการช่วยแบ่งเบาภาระรัฐ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขอความร่วมมือจาก ปตท. จัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 66) มาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งให้ ปตท.คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช.มีมติเป็นต้นไป กดดันผลการดำเนินงานปตท.ในปีหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น