“พลังงาน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตมนุษย์ และการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นระบบเศรษฐกิจของไทยจึงหนีไม่พ้นต้องพึ่งพา "พลังงาน" ในการขับเคลื่อนเช่นกัน เมื่อเศรษฐกิจเติบโตการใช้ก็สูงขึ้นทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า ฯลฯ และบ่อยครั้งเมื่อพลังงานโลกเกิดวิกฤตราคาแพง ไทยซึ่งเป็นประเทศนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ต้องนำเข้าเฉลี่ยถึง 92% เนื่องจากแหล่งผลิตในประเทศมีจำกัด และยังนำเข้าก๊าซธรรมชาติถึง 38% จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก
คนไทยวันนี้น่าจะรู้ซึ้งมากขึ้นถึงผลกระทบดังกล่าวเมื่อโลกเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก แหล่งผลิตปิโตรเลียมทั่วโลกต่างต้องปิดลงเพราะความต้องการลดต่ำ แต่หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลายหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์จนกระทั่งเปิดประเทศระดับราคาพลังงานก็ทะยานขึ้นเพราะผลิตไม่ทันกลายเป็นวิกฤตทันที ... แถมเกิดวิกฤตซ้อนเมื่อรัสเซียบุกยูเครนระดับราคาน้ำมันยิ่งทะยานมากขึ้นกว่าเดิม...
แม้ว่าล่าสุดเศรษฐกิจโลกที่หลายคนมองว่ากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจะทำให้ราคาพลังงานอ่อนตัวลง แต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงคุกรุ่นและรอวันปะทุในสมรภูมิรบอื่นๆ แถมกลุ่มโอเปกพลัส (Opec+) ยังลดกำลังการผลิตอีก 2 ล้านบาร์เรล/วันเริ่ม 1 พ.ย. ท่ามกลางการเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศแถบตะวันตกที่ความต้องการจะเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าจะเป็นปัจจัยกดดันต่อระดับราคาน้ำมันได้มากขึ้นเพียงใด..แต่ภาพรวมหลายฝ่ายก็มองว่าราคายังทรงตัวระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ไทยมีการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบต่อราคาพลังงานที่สูงทั้งน้ำมันโดยเฉพาะดีเซล ก๊าซหุงต้ม (LPG) ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ ฯลฯ โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ตอกย้ำในเวทีสัมมนาของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ถึงภาระการช่วยเหลือดังกล่าวนับตั้งแต่วิกฤตโควิดในช่วงปี 2563 จนถึงเดือน ก.ย. 65 คิดเป็นวงเงินกว่า 2.4 แสนล้านบาท (ดูภาพประกอบ) ซึ่งตัวเลขนี้จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหากระดับราคาพลังงานยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น…โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันฯ ที่ล่าสุดติดลบทะลุ 1.28 แสนล้านบาทแล้ว
ท่ามกลางวิกฤตพลังงานแพง...แต่ทั่วโลกกลับมีวาระลดโลกร้อนด้วยการมุ่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเดินตามเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และไทยเองก็ได้ประกาศเป้าหมายที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 และลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี ค.ศ. 2065 ...แน่นอนว่าวิกฤตพลังงานและเทรนด์ของโลกทำให้พลังานในระยะต่อไปย่อมมีการเปลี่ยนแปลงสูง นโยบายพลังงานจึงต้องมุ่งตอบโจทย์ในทุกมิติ....
วิกฤตค่าไฟดันคนไทยหันติดโซลาร์ฯ พุ่ง
นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ในทุกภาคส่วนทั้งครัวเรือน และผู้ประกอบการต่างหันมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) มากขึ้น หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายลดขั้นตอนการดำเนินงาน และแนวโน้มไม่เกิน 3 ปีประชาชนคนไทยทุกภาคส่วนจะหันมาผลิตไฟใช้เองที่เป็นพลังงานแบบพึ่งพาตนเองได้โดยเฉพาะโซลาร์ฯ แบบก้าวกระโดด เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าของไทยจะสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังทรงตัวระดับสูง ประกอบกับตอบโจทย์ลดโลกร้อน
“ยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญคือราคาแผงโซลาร์ฯ และแบตเตอรี่กักเก็บราคาแพงขึ้นเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มแต่วัตถุดิบประเภทสินแร่คงไม่เพียงพอ แต่เทคโนโลยีแผงก็พัฒนาไปเร็วทำให้อายุการใช้งานเฉลี่ยมาอยู่ที่ 30 ปีจากเดิมไม่เกิน 25 ปี แต่หากเทียบกับค่าไฟที่สูงการติดตั้งจึงยังคุ้มค่าเพราะสามารถพึ่งพาตนเองได้” นายพลกฤตกล่าว
นอกจากนี้ ประเทศทั่วโลกและแม้แต่ไทยได้วางเป้าสู่การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาโซลาร์ฯ และแบตเตอรี่ ที่จะยังเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสะอาดเช่นกัน และรถ EV ต่อไปก็จะชาร์จไฟที่บ้านที่ติดโซลาร์ฯ แล้วสำรองไว้ในแบตฯ และรถก็จะต่อไฟย้อนกลับมาใช้ที่บ้านกลายเป็นสำรองไฟได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมีการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพใหม่ๆ ด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นจึงมองว่านื่คือโอกาสของไทย ดังนั้นแผนพลังงานชาติโดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2022) ที่เป็น 1 ใน 5 แผนย่อยที่กระทรวงพลังงานกำลังจัดทำโดยวางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์ม ก็ถือว่ามาถูกทาง แต่รายละเอียดต้องรอความชัดเจนของแผนทั้งหมด
ปลดล็อกใช้ Net Metering
นายพลกฤตยังชี้ให้เห็นว่า ค่าไฟปัจจุบันอัตราเฉลี่ยรวม 4.72 บาทต่อหน่วย ขณะที่โครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่รัฐส่งเสริมการซื้อไฟอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วยจากไฟที่เหลือใช้เข้าระบบไม่ใช่ประเด็นที่ประชาชนต้องการอัตราที่เพิ่มขึ้น หากแต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฯ Net Metering คือ ระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคากับไฟฟ้าที่เราใช้จากการไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบ ซึ่งวิธีนี้ไฟส่วนเกินรัฐก็ได้รับไปแบบฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายเงินให้ก็ยังได้
"ผมว่ารัฐต้องปรับ Mindset อย่าจับจ้องคนติดโซลาร์ฯ มากเกินไป ประชาชนเชื่อเลยเขาไม่อยากขายไฟแล้วได้เงินหรอกเพราะใช้ไฟเองก็คุ้มค่ากว่าแล้ว แค่อย่าทำให้เขายุ่งยากและให้ความเป็นธรรมเท่านั้น Net Metering จริงๆ ก็ไม่ต้องเปลี่ยนมิเตอร์อะไรอยู่ที่วิธีการคำนวณในบิลค่าไฟ" นายพลกฤตกล่าว
ส.อ.ท.หวั่นค่าไฟปี 66 ทะลุ 5 บาท/หน่วย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนมุมมองถึงวิกฤตพลังงานของโลกและไทยว่า ส่วนตัวมองว่าวิกฤตพลังงานยังคงจะอยู่ต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และไทยก็คงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยากเพราะไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลัก โดยสิ่งที่ต้องจับตาคือการที่โอเปกพลัสลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันจะมีผลต่อตลาดมากน้อยเพียงใด แต่ภาพรวมเชื่อว่ายังคงทรงตัวระดับสูง ดังนั้นราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นต่อเนื่องกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงสะท้อนไปยังราคาสินค้าและผลักดันให้เงินเฟ้อของทั่วโลกและไทยยังมีทิศทางที่ปรับตัวสูง
“ค่าไฟฟ้าของไทยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยซึ่งมีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งในงวดต่อไปเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) กระทรวงพลังงานได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการดูแลไม่ให้เกินไปจากระดับ 4.72 บาทต่อหน่วยก็น่าจะเป็นข่าวดีในภาพรวมเพราะไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนของประชาชนและผู้ประกอบการ” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับต้นทุนค่าไฟของไทยหากเทียบกับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนามที่มีการผลิตสินค้าประเภทเดียวกับไทย อยู่ระดับเพียง 2.88 บาทต่อหน่วยจึงทำให้ไทยเสียเปรียบด้านขีดความสามารถทางการแข่งขันและยังกังวลว่าค่าไฟของไทยในปี 2566 อาจจะทะลุ 5 บาทต่อหน่วยก็เป็นไปได้แม้ว่ารัฐอาจจะตรึงในงวด ม.ค.-เม.ย. 66 เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงแบกรับภาระต้นทุนไว้อยู่ถึงราว 1 แสนล้านบาท หากราคาพลังงานตลาดโลกยังคงทรงตัวระดับสูงจึงเห็นว่ารัฐควรจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ซึ่งได้มีการยื่นข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ การปรับสำรองไฟไม่ให้สูงเกินไปเพื่อไม่ให้เป็นภาระต้นทุน
โอกาสสู่พลังงานสะอาดพึ่งพาตนเอง
นายเกรียงไกรกล่าวว่า เมื่อโลกกำลังให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อนและเริ่มมีกติกาปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกต้องมุ่งใช้พลังงานสะอาด 100% มากขึ้น ซึ่งหากมองในภูมิภาคอาเซียนไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงสุดและมีศักยภาพทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ดังนั้นไทยสามารถใช้วิกฤตราคาพลังงานที่สูงโดยหันมาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่ไทยพึ่งพาตนเองได้ให้มากขึ้นโดยใช้นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนไปพร้อมกับลดพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างชาติที่ปีหนึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท
แนะวางแผนพลังงานให้มีหลาย Scenario
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กรรมการและเลขาธิการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวถึงมุมมองวิกฤตพลังงานช่วงที่ผ่านมาว่า ไทยเองต้องถอดบทเรียนในทุกวิกฤตของพลังงานมาสู่การปรับแผนพลังงาน โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) ที่กำลังอยู่ระหว่างจัดทำให้ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นธรรมและสะท้อนตามความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังมุ่งสู่พลังงานสะอาดสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยควรวางแนวทางรับมือไว้ให้หลาย Scenario เพื่อนำมาใช้อย่างทันท่วงที
"ใครจะรู้ว่าจะเกิดโควิด-19 เราก็รู้แล้ว ค่าไฟแพงเราเจอแล้ว เราเจอมาหลายวิกฤตมากจึงควรคิดไว้ให้หลาย Scenario แล้วปรับใช้ได้เลยเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น อย่างวันนี้ไฟจากฟอสซิลเหลือเยอะทำให้การเข้าระบบของพลังงานใหม่ๆ ก็จะจำกัดขึ้น แต่การมาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ถ้าเกิดเร็ว ไฟฟ้าสำรองที่สูงอาจลดลงได้เร็วก็ได้" นายนทีกล่าว
ปัจจุบันองค์กรเอกชนขนาดใหญ่กำลังแสวงหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE100 ปริมาณสูงมากเพราะได้รับแรงกดดันจากบริษัทแม่ ลูกค้า ที่กำลังมุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ไทยจึงต้องวางแผนด้านซัปพลายไฟฟ้า RE100 ให้ดีเพื่อไม่ให้กระทบต่อการลงทุนและการส่งออกในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าแผน PDP 2022 แม้จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแต่ระยะ 5-10 ปีก็คงไม่สามารถตอบโจทย์ความเป็น RE100 ได้ ดังนั้นจำเป็นที่ต้องส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่จะทำให้ผู้ผลิตที่ผลิตไฟจากพลังงานสะอาดนำส่วนเกินจากการใช้มาเสนอขายระหว่างกันได้โดยตรง (Peer-to-Peer)
"โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) เฟส 2 มีการปรับเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจได้จริงที่จะเกิดรูปแบบการซื้อขายกันเอง ซึ่งหากสำเร็จก็สามารถจะพัฒนาการซื้อขายได้จริง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เองก็ได้จัดทำ PDP ฉบับภาคประชาชนก็ให้ความสำคัญต่อพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์บวกกับระบบกักเก็บพลังงาน" นายนทีกล่าว
ดังนั้น ทิศทางพลังงานของไทยที่สอดรับกับเทรนด์โลกและความต้องการของภาคการผลิต รวมถึงเป้าหมายของประเทศจึงมุ่งสู่เส้นทางพลังงานสะอาด ..... โอกาสหรือวิกฤตนโยบายรัฐจึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน