โครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ CASE เผยผลวิจัยเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ชงข้อเสนอรัฐบาล พาไทยเพิ่มประสิทธิภาพการบรรลุเป้าหมาย ลดคาร์บอนให้ได้ตามเป้า COP โดยไม่ต้องจ่ายแพง พ่วงประโยชน์ต่อประเทศอีกหลายด้าน
จากคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเจตนารมณ์บนเวทีประชุมผู้นำ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อปลายปีที่แล้ว ก่อนไปสู่ COP27 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ เมืองชาร์ม เอล ชีค ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายนนี้
เมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน 2565) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), กระทรวงเศรษฐกิจ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งรัฐบาลเยอรมัน (BMWK), สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกันจัดงาน เสวนาสาธารณะ "จาก COP26 สู่ COP27: เดินหน้าภาคพลังงานสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 2050" ณ โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เพื่อเปิดเผยผลการศึกษา “แนวทางการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย: การวางแผนระดับประเทศในระยะยาวและนัยยะด้านเศรษฐกิจและสังคม” (Towards a collective vision of Thai energy transition: National long-term scenarios and socioeconomic implications (TET2S) ดำเนินการภายใต้โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean Affordable Secure Energy for Southeast Asia - CASE)
หลังคณะผู้วิจัยได้ศึกษาเส้นทางลดคาร์บอนในภาคพลังงานที่ครอบคลุมในภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งของประเทศไทย ด้วยต้นทุนต่ำ พร้อมระบุหมุดหมายต่าง ๆ ที่ต้องทำให้ได้เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) หรือ Carbon neutrality 2050 ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ พร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ในเวที COP26 เมื่อปีที่ผ่านมา
ดร.สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัยโครงการ CASE จาก สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นำเสนอผลการศึกษาในหัวข้อ “เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงาน 2050” เผยว่า การศึกษาของ โครงการ CASE มุ่งศึกษาแนวทางลดคาร์บอนในภาคพลังงาน เนื่องจากภาคพลังงานมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง จึงต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากที่สุดเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก (hard-to-abate sector) ลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการใช้แหล่งกักเก็บคาร์บอน (carbon sink)
โดยผลการศึกษาชี้ว่าแผนพลังงานและนโยบายที่มีในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอสำหรับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงานได้ จึงเสนอภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาเส้นทางไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ที่ต้องอาศัยเป้าหมายการลดคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในภาคพลังงาน
ข้อเสนอจากผลการศึกษา ระบุว่าภาคการผลิตไฟฟ้าควรเน้นเพิ่มการผลิตที่มาจากแสงอาทิตย์และลม ขณะที่ภาคความร้อนในอุตสาหกรรมควรเน้นการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า (Electrification) ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำความร้อน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นและในภาคขนส่งควรปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะ ระบบราง และพาหนะส่วนบุคคล
“เราคาดว่าต้นทุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น หากเราสามารถทำตามเส้นทาง Carbon Neutrality ที่ โครงการ CASEนำเสนอภายใต้การศึกษานี้ได้ เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทาง คาร์บอนได้โดยที่ไม่ทำให้ต้นทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น โดยเส้นทางดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ระบบไฟฟ้ามีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีต้นทุนต่ำ (least cost optimization) และอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน” ดร.สิริภา จุลกาญจน์ กล่าว
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามแนวทางที่เสนอแนะดังกล่าวข้างต้น ยังสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้อีกหลายทาง อาทิ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการลดความเสี่ยง และการผันผวนจากราคาพลังงาน และการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังเกิดการสร้างประโยชน์ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ถึง 4.5 ล้านล้านบาทระหว่างปี 2020-2050 ช่วยลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป(CBAM) ที่จะทำให้ไทยส่งออกได้ลดลง หรืออุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ยังสามารถสร้างการจ้างงานในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้ราว 8 ล้านตำแหน่งระหว่างปี 2020-2050 จากการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และลม อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เพราะจะช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ และทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้คน จากปัญหามลพิษทางอากาศลดลงได้ถึง 26,000 ราย ในระหว่างปี 2020-2050
นอกจากการนำเสนอผลงานทางวิชาการแล้ว ในงานดังกล่าวได้มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ“ทบทวนคำสัญญาผู้นำไทยกับความเป็นไปได้สู่เวทีCOP27” ที่ได้รับเกียรติจาก นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศ.ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงาน และนางสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนอภิปรายถึงความคืบหน้าและความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) จากคำมั่นสัญญาผู้นำไทยใน COP26 ก่อนไปสู่ COP27 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ เมืองชาร์ม เอล ชีค ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายนนี้
ถ้อยคำประกาศดังกล่าวถือว่าเป็นจุดหักเลี้ยวที่สำคัญ เพราะหากย้อนไปที่แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030: NDC) เดิมทีนั้นจะอยู่ที่ 20-25%
การขยับตัวเลขไปเป็น 40% ถือว่าเพิ่มความท้าทายพอสมควร เพราะเท่ากับว่าจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนจากเดิมที่ 555 ล้านตันให้เหลือ 333 ล้านตัน โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงาน ไปจนถึงนโยบาย 30@30 (การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้งาน)
ล่าสุด “รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4” ที่เตรียมส่งให้ทาง UNFCCC ก่อนการจัดประชุม COP27 ได้ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก
ประเทศไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการละลายของน้ำแข็ง อีกทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง ภัยแล้งที่มากขึ้น พายุที่ถี่ขึ้น ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะตกอยู่กับผู้มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกร ชุมชนชายฝั่ง กลุ่มผู้เปราะบาง
แม้ว่าประเทศไทยจะเตรียมแผนการที่แลดูเป็นรูปธรรมและสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศได้ อย่างแผนการร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจ แผนการลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายใน ค.ศ. 2030 การตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ใน ค.ศ. 2065 พร้อมการชูเรื่องเทคโนโลยีกลางที่ประชุม แต่หากเรายังไม่พูดถึงแนวทางการป้องกันและปรับตัวอย่างจริงจัง และการฟังเสียงของภาคส่วนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ก็จะกลายเป็นการเสียโอกาสบนเวที COP27 ที่จะมาถึงนี้
เป้าหมาย CASE : โครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้ และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) มีเป้าหมายขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมุ่งสู่การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่ 4 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์
โดยทั้ง 4 ประเทศมีการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคิดเป็นประมาณ 72% ของ GDP ของภูมิภาค และ 82% ของประชากรทั้งหมด การพัฒนาพลังงานของประเทศเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถของภูมิภาคในการบรรลุเป้าหมายทั้งด้านการพัฒนาและความยั่งยืน ตลอดจนถึงการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส
โครงการ CASE มุ่งเน้นการเสนอวิธีแก้ปัญหาที่อิงหลักฐานให้กับผู้กำหนดนโยบายที่กำลังเผชิญความท้าทาย และสร้างการสนับสนุนทางสังคมต่อวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นในภูมิภาค โดยใช้แนวทางการค้นหาข้อเท็จจริงร่วมกันเพื่อลดขอบเขตของความเห็นต่างผ่านการมีส่วนร่วมของการวิเคราะห์และการอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ CASE ยังมุ่งสนับสนุนการประสานงานในภาคพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและนโยบาย และสนับสนุนการหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับประเด็นด้านพลังงาน