xs
xsm
sm
md
lg

ปตท. อัดงบ 30% ปี 2023 รุกพลังงานแห่งอนาคต พร้อมลงสนาม EV ครบวงจร พ่วงธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กว่า 44 ปีที่ ปตท.ยืนหยัดในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ผ่านทั้งวิกฤตพลังงาน ไปจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจ จนในวันนี้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่เทคโนโลยีถูกขับเคลื่อนเป็นเรื่องหลัก ในขณะเดียวกันก็ยังคำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อนไปด้วย ซึ่งนับเป็นบทบาทใหม่ที่ ปตท.ต้องเผชิญ เพื่อปรับเปลี่ยนและสร้างความมั่นคงทางพลังงานในรูปแบบที่ท้าทายกว่าเดิม


นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปตท.ยังคงพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต พร้อมเดินหน้าปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้าสู่โลกยุคใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with future energy and beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต

“Powering Life ของ ปตท. เราก็จะเป็นองค์กรที่มีส่วนในการเป็นแรงขับเคลื่อนของทุกชีวิต Life มันก็จะกว้างขึ้นแล้ว บอกถึงวิสัยทัศน์ของเราที่เราจะกว้างขึ้นด้วย แทนที่จะดูเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ประเทศ ก็มีส่วนในการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วย Life คือทุกชีวิต ผู้คน สังคม ชุมชน ประเทศ สังคมโลก แล้วขับเคลื่อนด้วยอะไร ด้วย Future Energy and Beyond นั่นเอง ก็เริ่มมีการใส่ตัวกลยุทธ์หรือ Direction ไปข้างหน้าของเราให้เห็นในวิสัยทัศน์เหมือนกัน”

ซึ่งในส่วนของ Powering Life ที่ผ่านมา ปตท.เคียงข้างสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ผ่าน โครงการลมหายใจเดียวกัน ทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หน่วยตรวจ รักษาครบวงจร (End-to-End), อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด จัดหาพัฒนาวัคซีน แอลกอฮอล์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ ถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค-บริโภค ตลอดจนการสนับสนุนทุนการศึกษาผ่านโครงการดีๆ อย่าง ลมหายใจเพื่อน้อง เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

“นอกจากนั้นแล้ว เพื่อที่จะดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง เรามีการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3,000 ล้านบาท ตรึงราคาขายปลีก NGV เพื่อเป็นทางเลือกให้กับแท็กซี่ น้ำมันขึ้น NGV ไม่ขึ้น ให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม บรรเทาภาระของ กฟผ. เราก็มีส่วนเข้าไปช่วยเขา มีการยื่นเครดิตในการชำระเงินให้กับ กฟผ. วงเงินก็หลายล้านโดยที่ไม่คิดดอกเบี้ย แล้วก็จัดหาน้ำมันดิบที่ว่าเพิ่มสำรองไว้ในถัง OR และชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีก ตั้งแต่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมา รวมๆ แล้วประมาณ 17,800 ล้านบาท เราก็ช่วยในบทบาทที่เราช่วยได้ ทำได้”


อย่างไรก็ตาม สำหรับก้าวต่อไปของ ปตท. นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ในอนาคต ปตท.จะเน้นการลงทุนกว่า 30% ของงบทั้งหมดไปที่พลังงานของอนาคต หรือ Future Energy มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Renewable, Energy Storage & System Related, EV Value Chain และ Hydrogen พร้อมมองหาโอกาสในการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าด้านพลังงาน (Beyond) เช่น ธุรกิจ Life Science ทั้งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ, Medical device ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์, Mobility & Lifestyle, High Value Business, Logistics & Infrastructure และ AI, Robotics digitalization เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไป

“Beyond อาจจะออกนอกไอเดียของตัวพลังงาน แต่เป็น Beyond ที่มีที่มาที่ไป ก็คือ Beyond ของเรา Base on New S-Curve ของประเทศตามนโยบายรัฐบาล เพราะว่าถ้ากลับมามองภาพรวมประเทศ ประเทศเรา 10-20 ปี เราเติบโตบนฐานอุตสาหกรรมเดิม เช่น ปิโตรเคมี รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นต้น อันนี้คือพื้นฐาน เพราะฉะนั้นประเทศก็มีความกังวลแหละว่าเราต้องไปอีกระดับหนึ่ง อีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาหรือของอุตสาหกรรม

ดังนั้น Beyond ของเรามาจากพื้นฐานของ New S-Curve ประเทศ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันสร้าง New S-Curve ของประเทศเพราะว่ารัฐบาลประกาศนโยบายได้แต่คนผลักดันให้มันเกิดคือภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และมันต้องช่วยกันทำ มันไม่ใช่รายใดรายหนึ่งทำแล้วสำเร็จ เราจะเป็นส่วนในการผลักดันเรื่องคุณภาพชีวิต การผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนใหม่่ๆ มีการทำธุรกิจใหม่่ๆ ก้าวสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่เราเหมือนกัน”

ทั้งนี้ สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต นายอรรถพลให้ความเห็นว่า พลังงานในอนาคตจะมุ่งจากการใช้พลังงานของโลกไปสู่พลังงานสะอาด ภายใต้หลัก GO GREEN และ GO ELECTRIC มากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา ปตท.ก็ได้มีการเข้าไปวางรากฐานและขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า EV Value Chain เพื่อตอบโจทย์ความสะดวก และรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียนในลำดับต่อไป

โดย ปตท.มีการจัดตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) Flagship ด้าน EV Value Chain ที่เข้ามารองรับฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา EV Ecosystem ในขณะเดียวกันก็ขยายฐานการลงทุนร่วมกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศด้วย

หนึ่งใน “ไฮไลต์” สำคัญของ ARUN PLUS คือการจับมือร่วมทุนกับ บริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จากไต้หวัน โดยมีการร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ฮอริซอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจรในประเทศ โดยคาดว่าโรงงานจะเสร็จในปี 2024 ที่กำลังจะถึง

ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าหมายการผลิตระยะแรกในปีแรกไว้ที่ 20,000 คันต่อปี และขยายกำลังการผลิตสู่ 50,000 คัน และ 150,000 คันต่อปี ภายในปี 2030


ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. หรือ CNBO ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ARUN PLUS ยังได้เปิดให้บริการธุรกิจสถานีอัดประจุ on-ion EV Charging Station (ออน-ไอออน) ด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสลับ (AC Charger) รองรับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV : Plug-in Hybrid) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicle) ทุกรุ่น ทุกแบรนด์ที่มีหัวชาร์จ Type 2 โดยมีการเปิดให้บริการในบางพื้นที่แล้ว พร้อมตอบโจทย์ความสะดวกสบายด้วยการจองและค้นหาสถานีได้เพียงแค่มี on-ion Mobile Application เท่านั้น

ดร.บุรณินเสริมว่า on-ion EV Charging Station มีการตั้งเป้าขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ร้านอาหาร สถานีบริการ และมีบริการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า(EV Charger) ในที่พักอาศัยด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ในขณะเดียวกัน ก็อยู่ระหว่างการศึกษาและทดลองสำหรับรถจักรยานยนต์และรถบัส เพื่อให้ครบทั้ง EV Value Chain อีกด้วย


“และเพื่อให้คนกล้าใช้รถยนต์ไฟฟ้า เราก็มีแพตฟอร์มที่เราเรียกว่า EVme (อีวี มี) คือเป็นคนที่อยากจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าแต่ไม่กล้าซื้อ เพราะยังไม่รู้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นแบบไหน อยากใช้ก็มาเช่าขับ 3 วัน 5 วัน 7 วัน หรือเป็นเดือน เป็นสิ่งที่เราทำเมื่อปีที่แล้วที่เราสร้างตัวนี้ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้มีรถยนต์ในคลังประมาณ 400 คัน แต่ว่าจริงๆ ตั้งเป้าไว้ 2 ล้านคันให้ทุกคนได้เช่าใช้ ” ดร.บุรณินกล่าว

และด้วยความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจใหม่เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ และสอดคล้องกับเทรนด์ในอนาคต ปตท.ได้มีการขยายฐานธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจ Life Science ส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ New S-Curve ผ่านการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่มีการดำเนินงานที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจยา อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค รวมทั้งอาหารเพื่อสุขภาพ


ล่าสุด “NRPT” บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด มีการเปิดร้าน “alt. Eatery” คอมมูนิตีอาหาร Plant-based ใจกลางเมืองแห่งแรกของกรุงเทพฯ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่ทำเลซอยสุขมวิท 51 ของ “แสนสิริ” ในการเปิดร้าน

แบรนด์ alt. หรือ อัลท์ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้โปรตีนจากพืชทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากผลวิจัยพบว่ากรรมวิธีการผลิตอาหาร Plant-based สามารถช่วยลดโลกร้อนจากการทำปศุสัตว์ได้ถึง 30%


ทั้งนี้ “alt. Eatery” ยังมุ่งในการเป็นโมเดลต้นแบบการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการใช้ Solar Roof และให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในบริเวณร้านอีกด้วย

อย่างที่ทราบกันดีว่า ปตท.ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำหรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) นั้น นายอรรถพลย้ำว่า กลุ่ม ปตท.มีการตั้งเป้าร่วมกันว่าจะมีการประกาศให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ เพื่อเป็นการช่วยประเทศ นั่นก็คือภายในปี 2050 นั่นเอง

ผ่านการดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ 3P คือ

1. Pursuit of Lower Emissions ลดการปล่อยคาร์บอน ขณะนี้มี 4 โครงการหลักที่จะลงทุน อย่างการนำคาร์บอนที่เก็บไว้มาใช้ประโยชน์ (CCUS) เพราะคาร์บอนสามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นในการใช้ประโยชน์ ทำเป็น product ต่างๆ ได้ หรือเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCS) แล้วก็ Storage จับมาเก็บ โดยมี ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นตัวหลักในการดำเนินงาน

2. Portfolio transformation ปรับกระบวนการทำธุรกิจ ลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล 3 ตัว คือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยล่าสุด ปตท.ได้ขายธุรกิจถ่านหินพร้อมเน้นการเติบโตไปทางก๊าซธรรมชาติแทน รวมทั้งจะโฟกัสไปที่พลังงานทดแทนให้มากขึ้น ให้ได้ประมาณ 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2030

3. Partnership With Nature and Society หรือโครงการปลูกป่า โดยที่ผ่านมา ปตท.มีการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติไปกว่า 1 ล้านไร่ ใน 54 จังหวัด ซึ่งเมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าไปสำรวจพบป่าจำนวนนั้นยังมีความสมบูรณ์อยู่กว่า 90% ซึ่งสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.14 ล้านตันต่อปี และปล่อยออกซิเจนประมาณ 1.7 ล้านตันต่อปี รวมทั้งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สร้างมูลค่าที่ประชาชนได้จากป่าที่ปลูกสูงถึง 280 ล้านบาทต่อปี

“เพื่อให้ถึง Net Zero ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2050 เราจะปลูกเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวมันจะมีโครงการหนึ่งล้านไร่ของ ปตท.ขึ้นมา แล้วก็จริงๆ ในกลุ่มเองที่เขาตั้ง Net Zero เขาก็ปลูกเหมือนกันเพื่อให้ถึงตามที่ประกาศ รวมๆ แล้วทั้งกลุ่ม ปตท. จะมีการปลูกเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านไร่ รวมกับของเก่าเป็น 3 ล้านไร่ ซึ่งอันนี้เขาคำนวณมาเบื้องต้น 3 ล้านไร่จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 3 ล้านตันต่อปี ซึ่ง 3P ที่ว่าก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราสามารถไปถึง Net Zero ภายในปี 2050 ได้” CEO ปตท.กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น