xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.หัวหอกศึกษาโครงการ CCU สรุปต้นปีหน้า สู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2050

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.ประกาศเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 พร้อมตั้งคณะทำงานกลุ่ม G-NET กำหนดกลยุทธ์เชิงรุกภายใต้กลยุทธ์ 3P เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสอดคล้องการดำเนินธุรกิจกลุ่ม ปตท. โดยมี ปตท.เป็นหัวหอกในการนำคาร์บอนไปใช้ประโยชน์สูงสุด (CCU) 4 โครงการ คาดว่าได้ข้อสรุปในต้นปีหน้า

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ตระหนักหน้าที่ และตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัท Flagship ของ ปตท.เพื่อประกาศเจตนารมณ์เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้เร็วกว่าเป้าหมายิ Net Zero ของประเทศไทย ที่ประกาศในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) โดย ปตท.ได้ประกาศ Net Zero Emissions ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) เช่นเดียวกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) ขณะที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ได้ประกาศ Net Zero Emissions ปี ค.ศ.2060 (พ.ศ. 2603) ตามข้อจำกัดของแต่ละบริษัท โดยมีแผนปฏิบัติการรองรับและผนึกความร่วมมือจุดแข็งธุรกิจกลุ่ม ปตท.


ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ได้จัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 แนวทางหลัก (3P) ได้แก่ Pursuit of Lower Emissions Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) โดยมี ปตท.สผ.เป็นหัวหอก นำร่องในพื้นที่แหล่งอาทิตย์ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้โครงการ CCS ในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน


ขณะเดียวกัน ปตท.เป็นหัวหอกในการบริหารปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน โดยการนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ มี 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโซเดียม ไบคาร์บอเนต, โครงการ Animal Protein, โครงการ Methanal และโครงการ Nano Calcium Carbonate ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปี 2566

นอกจากนี้ ปตท.จะดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้น โดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

Portfolio Transformation การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด โดยวางเป้าหมายมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 2 พันเมกะวัตต์ โดยแผนการลงทุน 5 ปีนี้จะมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันเมกะวัตต์ ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่พลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปีที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50% และ Partnership with Nature and Society การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ เช่น ปตท.ตั้งเป้าปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ภายใน 9 ปีนี้ จากเดิมที่มีการปลูกป่าไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งขณะนี้ ปตท.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ คาดว่าสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท.

ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมปีละ 45 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคิดเป็น 18% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในไทย โดย ปตท.มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 11.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์


กำลังโหลดความคิดเห็น