xs
xsm
sm
md
lg

อบก. หนุนธุรกิจเร่งลดคาร์บอน ชูโครงการ Premium T-VER ยกระดับเทียบเท่าสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO จัดงานเปิดตัวโครงการ Premium T-VER เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมี นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO เป็นประธานในพิธีเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “การมุ่งสู่ Carbon Neutrality ของภาคธุรกิจด้วยคาร์บอนเครดิต”

งานนี้ TGO ต้องการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER) แบบมาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการทำโครงการฯ มีหน่วยคาร์บอนเครดิตชื่อ Thailand Certified Emission Reduction หรือ “TCERs” เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐานสากล


นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO กล่าวว่า สังคมคาร์บอนต่ำเป็นกระแสโลกที่ไม่เปลี่ยนตามไม่ได้ จึงต้องกลับมาดูว่าจะปรับตัวลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไรแล้วใช้เป็นจุดขายในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน รวมทั้งหากทำได้ดีจริง ๆ จนมีส่วนเหลือสามารถเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปซื้อขายเป็นรายได้ใหม่ ตลอดจนอาจเป็นโอกาสใหม่ธุรกิจใหม่ เช่น การรับจ้างปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตในธุรกิจสีเขียวต่าง ๆ

เมื่อเป้าหมายคือลดการปล่อยคาร์บอน จึงต้องทำให้การปล่อยคาร์บอนต้องมีราคาหรือต้นทุน อาจจะเป็นมาตรการภาษี ใครปล่อยมากก็เสียมาก อีกวิธีหนึ่งคือควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเกณฑ์กลางไว้ ใครปล่อยเกินค่ากลางนี้ต้องเสียค่าปรับ ส่วนใครที่ปล่อยน้อยกว่า สามารถเอาส่วนเหลือเป็นเครดิตมาขายหรือแลกเปลี่ยนแก่รายที่ปล่อยเกินได้ ทำให้เกิดตลาดคาร์บอน (Carbon Trading System) ขึ้นเดิมการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเครดิตคาร์บอน ทำให้อุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ต่อมาพัฒนาเป็นสนับสนุนให้คนทำกิจกรรมที่สร้างผลดีให้เอามาเครดิตได้ เช่น กิจกรรมปลูกป่า ลดขยะ เปิดให้ตลาดคาร์บอนขยายขึ้นโดยให้แลกเปลี่ยนกันข้ามอุตสาหกรรมได้ด้วย

“วันนี้เราได้พัฒนามาตรการฐานวัดที่เป็นมาตรฐานสากล และต้องติดตามศึกษาและพัฒนาการวัดเทียบเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่แต่ละประเทศ หรือเขตเศรษฐกิจจะออกมาเรื่องคาร์บอนฟุตปรินท์ เช่น CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อใช้ตรวจวัดกับธุรกิจไทย ถ้าเราจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไว้เองแล้ว เมื่อจะส่งไปขายในอียูไม่ต้องเสียภาษีซ้ำอีก ดังนั้น ต่อไปทุกคนต้องลดการปล่อยคาร์บอนหมด อยู่ที่ว่าใครจะทำได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า ก็จะสามารถแข่งขันได้ดีกว่า ต่อไปต้องแข่งกันตรงนี้”

TGO ในฐานะหน่วยงานให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัด รายงานและทวนสอบปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคพลังงานและป่าไม้ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญ ในการสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งเป็นกลไกที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตที่สามารถนําไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา งานอีเว้นท์ และบุคคล  

ปัจจุบันมีโครงการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้น 310 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดหรือกักเก็บได้รวมทั้งหมด 10.59 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีและ TGO ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 13.51 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 136 โครงการ (การรับรอง 266 ครั้ง)

ขณะนี้ TGO ได้พัฒนาคาร์บอนเครดิต TCERs ซึ่งเป็นเครดิตอีกประเภทหนึ่งภายใต้โครงการ T-VER เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้พัฒนาโครงการและองค์กรที่ต้องการคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูง (High Quality Credits) มีความสอดล้องกับ The Core Carbon Principles (CCPs) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยคาร์บอนเครดิต TCERs สามารถนำไปใช้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรายงานผลการดำเนินงานขององค์กร รวมทั้งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์การบรรลุเป้าหมายระหว่างประเทศ จะต้องดำเนินการตามแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่เห็นชอบโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น