xs
xsm
sm
md
lg

กางแผนพลังงานชาติจ่อคิกออฟไตรมาส 2 ปี 66 จับตาโซลาร์ฯ มาแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพลังงานแย้มแผนพลังงานชาติตอบโจทย์ลดโลกร้อนเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลดพึ่งพิงนำเข้ารับมือได้ทุกวิกฤตไม่ซ้ำรอยเช่นปัจจุบัน พลิกโอกาสปักธงเกิดลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ “สนพ.” ลั่นเดินหน้าปฏิบัติไตรมาส 2 ปี 2566 ดันใช้โซลาร์ฯ กว่า 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ปี ค.ศ. 2050

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน
 แสดงปาฐกถาพิเศษ พลังงาน:วาระโลก-วาระประเทศไทย 2023 ในงานสัมมนา Energy For Tomorrow วาระโลกวาระประเทศไทย 2023 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์พลังงานโลกก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับราคายังคงทรงตัวระดับสูงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว แต่ปัญหาโลกร้อนทั่วโลกต่างมุ่งไปในทางเดียวกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่วางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี ค.ศ. 2065 กระทรวงพลังงานจึงกำหนดแผนพลังงานชาติเพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานไทยไปสู่พลังงานสะอาดสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

“เราเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของโควิด-19 จนสู่การสู้รบยูเครน-รัสเซีย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบมาต่อเนื่องโดยเฉพาะการดูแลผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจนติดลบกว่า 1.2 แสนล้านบาท และวันนี้โลกแบ่ง 2 ขั้วปัญหายังคงเดิมเราต้องอดทนและรัฐก็จะทำให้ดีสุดโดยยังคงดูแลโดยเฉพาะดีเซล ซึ่งรัฐก็ทำเต็มที่ แต่สิ่งที่ขอคือให้ประชาชนช่วยกันประหยัดถ้าเราลดนำเข้าสัก 20% เราจะมีเงินเหลือนับแสนล้านบาท” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่ประกอบด้วย 5 แผนย่อยคือ 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) จะตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยซึ่งจะช่วยลดโลกร้อนแล้วจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพราะจะลดการพึ่งพิงการนำเข้าลง โดยจะเน้นไปสู่พลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม อื่นๆ และระหว่างทางจะสร้างโอกาสใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ธุรกิจบริการต่างๆ


นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน บรรยายพิเศษ Road Map พลังงานไทย ว่า แผนพลังงานชาติแบ่งเป็น 5 แผนย่อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนย่อยเพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถการแข่งขันเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งคาดว่าไตรมาส 4 จะแล้วเสร็จและเปิดรับฟังความเห็นเพื่อนำมาประกอบเป็นแผนพลังงานชาติไตรมาส 1 ปี 2566 และคาดว่าจะนำมาสู่การปฏิบัติได้ในไตรมาส 2 ปี 2566

สำหรับแผนพลังงานชาติจะมุ่งตอบโจทย์ลดโลกร้อนโดยวางกรอบไว้ 4 ส่วนและปักหมุดหมายไว้ที่จะไปให้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี ค.ศ. 2050 ดังนี้ 1. เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกำลังผลิตใหม่ๆ ให้มากกว่า 50% หลังปี ค.ศ. 2030 และจะมากขึ้นหลังจากนั้น โดยควบคู่กับเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (CCS และ CCUS) ไฮโดรเจน โดยพลังงานสะอาดจะเน้นพลังงานแสงอาทิตย์และลม ควบคู่เรื่องของแบตเตอรี่ (ESS) ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์ระยะแรกปี ค.ศ. 2030 จะมีระดับ 1 หมื่นเมกะวัตต์ และจากนั้นจะมีมากกว่า 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ก่อนปี ค.ศ. 2050 เป็นต้น


2. ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ใช้ไฟฟ้าสะอาดจะเพิ่มการใช้ 30-50% ระยะแรก และปี ค.ศ. 2040 รถใหม่จะเป็น EV 100% รวมถึงต้องมีปั๊มชาร์จถึง 12,000 สถานี และมีแพลตฟอร์มต่างๆ 3. เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่า 30-40% เช่น เรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าปัจจุบัน และ 4. ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 4D1E เช่น เรื่องของมิเตอร์ไฟฟ้าที่สมาร์ทมากขึ้น จะเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน, การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น

"เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนไทยจะต้องดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1. โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่เป็นอัจฉริยะ 2. การปรับโครงสร้างตลาดและราคาให้ตอบโจทย์พลังงานรูปแบบใหม่ๆ 3. ปรับกฎระเบียบให้รองรับตลาดและการผลิต" นายวัฒนพงษ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น