การคาดการณ์ราคาพลังงานในปี 2566 จะปรับลดลงจากปีนี้ แต่ก็ยังทรงตัวในระดับสูงจากสงครามยูเครนกับรัสเซียยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส เตรียมปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤศจิกายน 2565 ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานยังเติบโตจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย
หากพิจารณาแนวโน้มการใช้พลังงานฟอสซิลทั่วโลกพบว่า การใช้ถ่านหินได้ผ่านจุดที่มีการใช้สูงสุดไปแล้ว แม้ในระยะสั้นหลายประเทศในยุโรปจะกลับมาใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นแต่ก็เป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่หายไป ซึ่งมองว่าเป็นภาวะชั่วคราว ส่วนการใช้น้ำมันของโลกคาดว่าในปี ค.ศ. 2030-2032 จะเป็นปีที่มีการใช้สูงสุดหลังจากนั้นการใช้เริ่มทยอยลดลง สวนทางกับแนวโน้มของการใช้ก๊าซธรรมชาติยังมีทิศทางการใช้ที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงปี ค.ศ. 2040 เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถือว่าเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดและเป็นพลังงานช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จึงเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจด้านพลังงานแบบเดิมที่จะต้องทุ่มเม็ดเงินเพื่อเข้าสู่พลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ หวังลดผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ที่สร้างการเติบโตภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยยึดหลัก ESG คือดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่เป้าหมายของความยั่งยืนด้านพลังงานโดยเพิ่มสัดส่วนพอร์ตโฟลิโอพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานตอบรับกับเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคต สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด ผ่านบริษัทย่อยคือบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด โดยวางเป้าหมายในปี 2568 สัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) มาจากพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน 50% และตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 6,100 เมกะวัตต์มาจากพลังงานสะอาด 1,600 เมกะวัตต์
ขณะนี้บ้านปูมีการประชุมเพื่อจัดทำแผนงาน โดยยึดหลักกลยุทธ์ Greener & Smarter ฉบับที่ 2 ของบริษัท โดยใช้ ESG นำหน้าในการดำเนินธุรกิจ มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจ 3 เสาหลัก คือ 1. กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) มีทั้งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ 2. กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ( Energy Generation) มีทั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3. กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) โดยมีบ้านปู เน็กซ์เป็นหัวหอกในการลงทุน เร่งเดินหน้าสร้างความเติบโต โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณท์และบริการ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้แข็งแกร่ง
“สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)(BANPU) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความท้าทายของโลกไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ราคาพลังงานที่สูง ยังมีความท้าทายเรื่องภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยตามมา แต่ในมุมพลังงานยังเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีอยู่ เพราะทุกประเทศที่บ้านปูเข้าไปลงทุนมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
ดังนั้น แผนการลงทุนในปี 2566 บ้านปูเน้นการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ผ่านบริษัท BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บ้านปูถือหุ้น 96.12% และบมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ขณะที่ธุรกิจถ่านหินยังรักษาการเติบโตแบบออร์แกนิก เพื่อสร้างกระแสเงินสดในช่วงราคาถ่านหินสูง โดยบ้านปูไม่มีแผนจะเข้าซื้อกิจการเหมืองถ่านหินใหม่เพิ่มแต่จะเน้นผลิตถ่านหินจากเหมืองเดิมที่มีอยู่ทั้งในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนภายใต้บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ก็มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ
แต่หากมองการเติบโตเป็นรายประเทศนั้น บ้านปูวางเป้าหมายการเติบโตในประเทศไทยในปี 2566 ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ (PDP 2022) ระหว่างปี 2565-2580 ที่ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเตรียมเปิดประมูลจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงกำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ รวมทั้งเร่งขยายเทคโนโลยีพลังงานของบ้านปู เน็กซ์ ผ่าน Platform Ecosystem ต่างๆ ที่บริษัทได้ร่วมทุนกับพันธมิตรหลายราย ไม่ว่าจะเป็นดูราเพาเวอร์ ผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเทียมไอออนระดับโลก และเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับ e-Bus ฯลฯ
ส่วนการเติบโตในสหรัฐอเมริกา แบ่งการเติบโตเป็น 2 เสาหลัก คือ 1. กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานผ่านบริษัทย่อย คือ BKV มีแผนจะเข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในรัฐเทกซัสเพิ่มเติมอีก หลังจากปี 2565 ที่ได้ตัดสินใจซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติ และครอบคลุมถึงธุรกิจกลางน้ำบริเวณบาร์เนตต์จากบริษัท XTO Energy, Inc. and Barnett Gathering LLC (XTO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Exxon Mobil Corporation คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 25,125 ล้านบาท โดยได้มีการสร้างพลังร่วม (Synergy) กับแหล่งก๊าซฯ บาร์เนตต์เดิมของบริษัทในรัฐเทกซัส ทำให้ต้นทุนการผลิตก๊าซฯ ของบริษัทต่ำลงอีก ส่งผลให้ BKV กลายเป็นบริษัทผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อันดับ 1 ในรัฐเทกซัส โดยมีหลุมผลิตก๊าซฯ มากถึง 7,500 หลุม คิดเป็นกำลังการผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งมาร์เซลลัสที่รัฐเพนซิลเวเนียอีก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เท่ากับว่าบ้านปูมีการผลิตก๊าซฯ รวมทั้งสิ้น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีปริมาณสำรอง 1P จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4.4tcf เป็นกว่า 5.8tcf
ด้านแหล่งเงินลงทุนนั้น มั่นใจว่า BKV สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนได้เอง ซึ่ง BKV เตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วย เพียงรอจังหวะที่เหมาะสม เพื่อระดมเงินในการขยายธุรกิจในอนาคต ที่ผ่านมาได้มีการกู้ยืมเงินแบบซินดิเคตจากสถาบันการเงินในไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่นเพื่อซื้อแหล่งก๊าซฯ XTO ทั้ง 100%
นอกจากนี้ BKV ยังยึดหลัก ESG ในการดำเนินธุรกิจ โดยล่าสุดได้ร่วมทุนกับ บริษัท EnLink Midstream, LLC (EnLink) ผู้ให้บริการระบบกลางน้ำด้านพลังงาน (ระบบแยก อัดก๊าซ และท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ) รายใหญ่ในสหรัฐฯ พัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการขับเคลื่อนครั้งใหญ่สู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซมีเทน (CH4) อย่างเป็นรูปธรรม
โครงการดังกล่าวดำเนินการครอบคลุมแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ในรัฐเทกซัส เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตและการขนส่งก๊าซธรรมชาติ โดย EnLink จะขนส่งก๊าซธรรมชาติของ BKV ที่ถูกผลิตจากแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ผ่านท่อขนส่งไปยังโรงงานแยก และอัดก๊าซในรัฐเทกซัส ซึ่งในระหว่างกระบวนการนี้เองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกดักจับ บีบอัด และขนส่งกลับไปหลุมใต้ดินของ BKV เพื่อจัดเก็บ และไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอีก กล่าวได้ว่าโครงการ CCUS ทำให้กระบวนการผลิตก๊าซฯ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาดว่าโครงการ CCUS จะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2566 นับเป็นโครงการแรกๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯเลยทีเดียว แม้แต่ Exxon Mobil ยังมีแผนลงทุนโครงการ CCUS รูปแบบเดียวกับบ้านปู เพราะเป็นโครงการลงทุนที่มีขนาดไม่ใหญ่ ทำได้ง่ายเหมาะสมต่อแหล่งก๊าซฯในสหรัฐอเมริกา
2. กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ทางบ้านปู เพาเวอร์มีแผนเข้าซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมในรัฐเทกซัส หลังจากก่อนหน้านี้เข้าลงทุนซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I แต่ก็ไม่ปฏิเสธถ้าจะเทกโอเวอร์โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในรัฐอื่นของสหรัฐอเมริกาถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่ดีและราคาเหมาะสม ซึ่งการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ มีโอกาสมาก เพราะเจ้าของโรงไฟฟ้าเป็นกองทุนฯ ที่มีกลยุทธ์ในการขายธุรกิจออก แม้ว่าราคาก๊าซฯ ช่วงนี้สูง ทำให้ค่าไฟแพง แต่การซื้อโรงไฟฟ้าพิจารณาจากอายุโรงไฟฟ้าที่เหลือเป็นหลัก
ส่วนประเทศออสเตรเลีย บ้านปูมองโอกาสการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้ได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 167 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ BSF กำลังการผลิต 11.09 เมกะวัตต์เปิด และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ MSF กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ขณะเดียวกันบริษัทก็มีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ติดกับเหมืองถ่านหินด้วย
ส่วนธุรกิจถ่านหินในออสเตรเลีย จะไม่มีการลงทุนซื้อเหมืองใหม่ แต่จะรักษากำลังการผลิตถ่านหินไว้ใกล้เคียงเดิม เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเชีย ที่จะไม่มีการลงทุนซื้อเหมืองถ่านหินใหม่ ล่าสุดบ้านปูได้ตั้งบริษัทย่อยคือบริษัท PT.ITM Bhinneka Power หรือ IBP ในอินโดนีเซีย โดยจะนำรูปแบบการลงทุนของบ้านปู เน็กซ์มาใช้ในประเทศอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ให้กับกลุ่มลูกค้าไปแล้ว 7 เมกะวัตต์ และมีโซลูชัน แพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งจะลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก (มินิ ไฮโดร) โดย IBP จะเข้าไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่จ่ายไฟฟ้าในระบบอยู่แล้ว ขนาดกำลังผลิต 10-20 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนไม่มาก
ส่วนประเทศจีน ทางบ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ไม่มีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เพิ่ม แต่จะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน กำลังการผลิตรวม 1,320 เมกะวัตต์ ซึ่ง BPP ถือหุ้นอยู่ 30% ให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Heat and Power : CHP) ของ BPP ทั้ง 3 แห่ง ที่เมืองโจวผิง (Zouping) ซึ่งเข้าไปถือหุ้น 100% กำลังการผลิต 139 เมกะวัตต์, เจิ้งติ้ง (Zhengding) ถือหุ้น 100% กำลังการผลิต 227 เมกะวัตต์ และล่วนหนาน (Luannan) ถือหุ้น 70% กำลังการผลิต 121 เมกะวัตต์ ก็มีแผนจะ Go Green มากขึ้น โดยมีการเจรจากับทางเจิ้งติ้งเพื่อเข้ามาดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับโรงงาน โรงแรมในรูปแบบ B2B รวมทั้งการทำโซลูชันแพลตฟอร์มโดยจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่น หากสามารถทำโซลูชัน แพลตฟอร์มได้อย่างน้อย 1 แพลตฟอร์มในจีน เชื่อว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าบ้านปู เน็กซ์แล้ว เพราะประชากรจีนมีจำนวนมาก รวมทั้งบริษัทได้มีการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์ลอยน้ำในจีนด้วย
สำหรับการเติบโตในเวียดนาม กลุ่มบ้านปูจะเติบโตในธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าพลังลม ส่วนญี่ปุ่นก็มีแผนเติบโตเหมือนเดิมเป็นการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ขณะที่ สปป.ลาวยังไม่มีการลงทุนใหม่ มีเพียงเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหงสาที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีความพร้อมในการจ่ายไฟต้นทุนต่ำให้ไทย
ส่วนประเทศมองโกเลีย บ้านปูจะลงทุนโครงการนำร่องการนำถ่านหินมาแปลงเป็นปิโตรเคมี หรือน้ำมันดีเซลเพื่อป้อนตลาดในมองโกลเลีย โครงการนี้ใช้เทคโนโลยีจากแคนาดา มีต้นทุนแข่งขันกับราคาน้ำมันดีเซลได้อย่างแน่นอน
สำหรับงบลงทุนในปี 2566 บริษัทคาดว่าใช้งบลงทุนจะสูงกว่าปีนี้ที่ตั้งไว้ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เน้นการลงทุนในสหรัฐอเมริกาที่จะเข้าซื้อกิจการในธุรกิจก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งบ้านปู เน็กซ์ เพื่อรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งทำโซลูชันแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโต ส่วนฐานะการเงินบริษัทก็มีความเข้มแข็ง โดยบ้านปูมีกระแสเงินสดที่ดีมากจากธุรกิจถ่านหินและก๊าซที่มีราคาสูง ทำให้ช่วงครึ่งแรกปี 2565 มีกระแสเงินสดถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การลงทุนใหม่จะเน้นซื้อกิจการโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที รวมทั้งปี 2566 บ้านปูมีเงินเพิ่มทุนจากการใช้สิทธิวอแรนต์ ทำให้มีเงินเข้ามาอีก 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีความพร้อมในการออกหุ้นกู้ ดังนั้นแหล่งเงินทุนจึงไม่ใช่ปัญหา
นางสมฤดีคาดการณ์ราคาตลาดถ่านหินในปี 2566-67 จะอ่อนตัวลงจากปีนี้มาอยู่ที่เฉลี่ย 200-250 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยปี 2565 ราคาถ่านหินเฉลี่ยเกินกว่า 300 เหรียญต่อตัน โดยไตรมาส 4/2565 ราคาถ่านหินอยู่ระดับสูงกว่า 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ก๊าซและถ่านหินจากรัสเซียหายไป ดันให้ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้น ขณะที่พลังงานหมุนเวียนก็มีไม่เพียงพอ ทำให้ยุโรปมีความต้องการใช้ก๊าซฯ และถ่านหินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ใน 2 ปีข้างหน้าราคาถ่านหินยังอยู่ระดับสูง 200-250 เหรียญสหรัฐต่อตัน แม้ว่าราคาถ่านหินจะสูงแต่บริษัทไม่มีแผนจะผลิตและจำหน่ายถ่านหินมากขึ้น โดยปี 2566 บ้านปูตั้งเป้าปริมาณการผลิตถ่านหินรวมอยู่ที่ 40 ล้านตันต่อปีใกล้เคียงปีนี้
ส่วนราคาก๊าซฯ ที่ปรับสูงขึ้นจากวิกฤตพลังงานทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ตลาดสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นไปแตะ 8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จึงไม่น่าแปลกที่ค่าไฟฟ้าของไทยจะปรับเพิ่มเกิน 5 บาท/หน่วย เพราะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เมื่อขนส่งมาถึงไทยราคาอยู่ที่ 20-40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จึงเป็นเหตุผลที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรียกรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสาที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพราะราคาค่าไฟต่ำกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซฯมาก
ดังนั้น หากบ้านปูสามารถเดินหน้าได้ตามแผนการลงทุนที่วางไว้ มั่นใจว่าผลการดำเนินงานบริษัทฯ ในปี 2566 จะเติบโตสูงขึ้นกว่าปีนี้ แม้ว่าราคาถ่านหินจะอ่อนตัวลงมาก็ตาม โดยกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานทั้งถ่านหินและก๊าซฯ ยังเป็นพระเอกในการสร้างรายได้อยู่ แต่บริษัทจะรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นและยังทำให้บริษัท Go Green มากขึ้นด้วย