xs
xsm
sm
md
lg

กพช.เคาะแผนบังคับประหยัดไฟหาก LNG พุ่งทะลุ 50 เหรียญ/ล้านบีทียูติดต่อ 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กพช.เคาะแผนบริหารจัดการพลังงานช่วงวิกฤต ต.ค.-ธ.ค. 65 หวังลดผลกระทบค่าไฟฟ้าปี 2566 โดยเฉพาะเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย. 66 พร้อมวางมาตรการประหยัดไฟฟ้าควบคู่ โดยระยะแรกเป็นการขอความร่วมมือแต่วางกรอบพร้อมขยับเป็นมาตรการบังคับทันทีหากราคา LNG ขยับสู่ระดับ 50 เหรียญต่อล้านบีทียูติดต่อ 2 สัปดาห์

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (7 พ.ย.) ว่า กพช.ได้พิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และดีเซลที่ยังคงผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นรวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท จึงได้เห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 เพื่อดูแลลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในปี 2566 พร้อมกันนี้ยังได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมการขอความร่วมมือประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจในการประหยัดพลังงาน และมาตรการเหล่านี้จะเป็นมาตรการบังคับทันทีหากราคา LNG เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 50 เหรียญต่อล้านบีทียู (Trigger point) เป็นต้นไปต่อเนื่อง 2 สัปดาห์จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 เหรียญต่อล้านบีทียู

"มาตรการประหยัดตอนนี้จะเป็นการขอความร่วมมือ เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศ (แอร์) อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ปิดไฟส่องสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น ปิดป้ายโฆษณาเป็นเวลา ฯลฯ แต่หากราคา LNG สูงตั้งแต่ 50 เหรียญต่อล้านบีทียูขึ้นไปต่อเนื่อง 2 สัปดาห์เราก็จะใช้มาตรการบังคับเพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกหลายแห่งได้ดำเนินการแล้ว โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป็นต้น จะดูมาตรการที่เหมาะสมและราคา LNG อีกครั้ง ซึ่งมาตรการประหยัดที่จะนำมาบังคับใช้จะต้องดูรายละเอียดธุรกิจที่ใช้พลังงานสูง เช่น การกำหนดระยะเวลาเปิด ปิด ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยยังคาดหวังว่าจะไม่ได้ใช้มาตรการบังคับ" นายกุลิศกล่าว

สำหรับมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 เช่น การให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนก๊าซฯ หากราคา LNG ลดต่ำลงซึ่งขณะนี้อยู่ระดับ 26-29 เหรียญต่อล้านบีทียูก็จะมีการนำเข้ามาสำรองไว้ให้มากขึ้น จัดหาแหล่งก๊าซฯ ในประเทศเพิ่มขึ้นที่มีราคาถูก รวมถึงพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) อีก 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะหน่วยที่ 8 ซื้อไฟระยะสั้นจากพลังงานทดแทนจากผู้ผลิต SPP-VSPP เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้จะช่วยลดผลกระทบค่าไฟปี 2566 แต่ที่สุดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 จะลดลงหรือคงเดิมอย่างไรอยู่ที่ต้นทุนรวมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณา

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กพช.ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยประกอบด้วย (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดต่อไป

(2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ.จะกำหนดต่อไป ทั้งนี้ ในการกำหนดองค์ประกอบและโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวทั้งสองรูปแบบ รวมถึงการจัดสรรต้นทุนการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่ครอบคลุมต้นทุนสาธารณะ และวิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ กกพ.จะพิจารณากำกับดูแลภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ให้โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม
 
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.ยังมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประเทศไทย ปี 2554-2558 โดยให้มีการปรับปรุงข้อความการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิม “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เป็น “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เพื่อให้ กกพ. สามารถกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 0 บาทต่อหน่วยเป็นการชั่วคราว 
กำลังโหลดความคิดเห็น