“ศักดิ์สยาม” เตรียมชง ครม.ผุดทางด่วน "ฉลองรัช" (จตุโชติ-ลำลูกกา) กว่า 2 หมื่นล้าน โยกเงิน TFF ที่เหลือ 1.47 หมื่นล้านจาก N2 มาลงทุนก่อน สคร.ไฟเขียวหวังลดต้นทุนการเงิน ผู้ว่าฯ กทพ.ลุยลงทุนโครงข่ายทางด่วนกว่า 1 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ปีละ 2 เท่าจากพื้นที่เขตทางกว่า 1.7 ล้านตารางวา
วันที่ 25 พ.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบ 50 ปี ว่า ปัจจุบันมีโครงข่ายทางพิเศษที่เปิดให้บริการรวม 225 กม. โดยมีรถใช้บริการจำนวนกว่า 1.8 ล้านคันต่อวัน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายและบริการด้านคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทุกมิติการเดินทาง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยได้มอบหมายให้ กทพ. แก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน
ขณะนี้มีโครงการที่เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติ คือ โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (จตุโชติ-ลำลูกกา) ระยะทางประมาณ 17 กม. วงเงินลงทุน 24,060 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณให้ กทพ.ใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) มาใช้ก่อสร้างโครงการ โดยจะเป็นวงเงิน TFF ในส่วนที่เดิมกำหนดจะใช้ก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 แต่เนื่องจากโครงการล่าช้า จึงนำมาใช้กับโครงการทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย (จตุโชติ-ลำลูกกา) ก่อน ซึ่งปัจจุบันกองทุน TFF มีวงเงินเหลือ 14,700 ล้านบาท ส่วนที่ยังขาดจะพิจารณาแหล่งเงินที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ นโยบายต้องการให้บริหารจัดการกองทุน TFF ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งโครงการทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา น่าจะเริ่มได้เร็วกว่า จึงโยก TFF จากทางด่วน N2 มาใช้ก่อน ขณะที่ทางด่วน N2 จะใช้เงินกู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งทาง สศช.มีความเห็นให้ กทพ.พิจารณาใช้แหล่งเงินที่มีอัตราดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุด โดยทั่วไปเงินกู้ในประเทศดอกเบี้ยประมาณ 3% ซึ่งต้องยอมรับต่ำกว่า TFF ที่มีต้นทุนทางการเงินสูงกว่า
ส่วนโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กม. วงเงินลงทุน 14,670.57 ล้านบาท กทพ.เตรียมขายซองประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนฯ ในต้นเดือน ธ.ค. 2565 นี้ ให้เอกชนยื่นข้อเสนอช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 2566
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ที่ผ่านมา กทพ.ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass การพัฒนาศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) การพัฒนาระบบ e-Service การจัดตั้งศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ (Expressway Traffic Management Center) และในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิดให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยบูรณาการร่วมกับกรมทางหลวงให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน จำนวน 3 ด่านแรกก่อน คือ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2
รวมถึงเร่งรัดการขยายโครงข่ายทางพิเศษสายใหม่ คือ ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร, ทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นโครงการทางพิเศษสายแรกในภูมิภาค นับเป็นการเปิดมิติใหม่ในการแก้ไขปัญหาจราจรที่ไม่ยึดติดเฉพาะในเมืองหลวงและปริมณฑล
@กทพ.ครบ 50 ปี ลุยเพิ่มโครงข่ายทางด่วนกว่า 1 แสนล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ.เร่งรัดดำเนินโครงการทางด่วน โดยคาดว่า ทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย (จตุโชติ-ลำลูกกา) ปัจจุบันออกแบบและ EIA ได้รับอนุมัติแล้ว คาดว่าจะเสนอ ครม.ในต้นปี 2566 จากนั้นเปิดประมูลก่อสร้าง นอกจากนี้ เตรียมเดินหน้าทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1, N2 โครงการทางด่วนศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทางประมาณ 19 กม. ที่รับโอนมาจากกรมทางหลวง (ทล.) วงเงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยจะจ้างที่ปรึกษาทบทวนแบบของกรมทางหลวง โดยปรับลดขนาดเหลือ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน คาดลดวงเงินเหลือ 25,000 ล้านบาท, โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร-สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) (MR10 ด้านใต้) ระยะทางประมาณ 72 กม. มูลค่า 96,600 ล้านบาท
ส่วนการพัฒนาระบบ Easy Pass นั้นปัจจุบันมีสมาชิก 2.1 ล้านคัน มีสัดส่วนการใช้งาน 52% และมีการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงบัตร Easy Pass กับระบบ M-Flow อย่างไร้รอยต่อ
อย่างไรก็ตาม กทพ.มีแนวคิดในการเพิ่มรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ปัจจุบัน กทพ.มีรายได้ประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้เชิงพาณิชย์ประมาณ 300 ล้านบาท หรือประมาณ 1.3% เท่านั้น โดยตั้งเป้าเติบโตปีละ 2 เท่า โดย กทพ.มีพื้นที่เขตทางด่วนที่คาดว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด 1,750.000 ตารางวา โดยใช้ประโยชน์แล้วเพียง 450,000 ตารางวา เท่ากับยังเหลืออีก 1,300,000 ตารางวา โดยมีพื้นที่แปลงใหญ่ที่จะนำมาพัฒนาเป็นจุดพักรถ (Rest Area) คือ ที่บางโปรง (เขตทางพิเศษ บางพลี-สุขสวัสดิ์) และ Rest Area Park & Ride บริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ (เขตทางพิเศษอุดรรัถยา)