ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ต.ค. แตะ 93.1 เป็นการขยับต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ชี้สัญญาณ ศก.ไทยเริ่มกลับมาหลังเปิดประเทศ แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้น ศก.ใหม่ๆ เพื่อเป็นของขวัญกระตุ้นใช้จ่ายโค้งสุดท้ายปีนี้ โดยรีวิวมาตรการที่ดีอยู่แล้ว ทั้ง ช้อปดีมีคน คนละครึ่ง โดยให้ใช้วงเงินเดิม เช่นคนละครึ่งเฟส 6 เป็น 3,000 บาท เพิ่มจำนวนสิทธิเราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ พร้อมทบทวนสำรองไฟที่สูงเกินไปหวังช่วยลดค่าไฟได้
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน ต.ค. อยู่ที่ 93.1 ปรับขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 82.1 และปรับขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากมีการยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับการส่งออกที่เติบโตและการท่องเที่ยวที่ต่างชาติทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นแรงส่งต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวให้แรงขึ้นจึงมีข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ต้องการให้รัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นของขวัญรับปีใหม่และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง ท้ายปี 2565 อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี 30,000 บาท โครงการคนละครึ่งเฟส 6 วงเงินขั้นต่ำ 3,000 บาท รวมทั้งเพิ่มจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็น 2 ล้านสิทธิ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน รวมทั้งเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งโดยการทบทวนปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ขณะนี้สูงถึง 51% ทำให้เป็นภาระที่ต้องนำมาควณในค่า Ft โดยขอให้พิจารณาอัตราที่เหมาะสมเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน รวมไปถึงให้รัฐเร่งหามาตรการดูแลและป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งทั่วประเทศเพื่อรับผลกระทบในระยะต่อไปอย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นพร้อมกับหามาตรการดูแลผลกระทบประชาชนที่ถูกน้ำท่วมมาเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวลดลง จาก 101.8 ในเดือนกันยายน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตลอดจนความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไปได้
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. กล่าวว่า กรณีค่าไฟฟ้าไทยเฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วยถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนและเห็นว่าสำรองไฟฟ้าไทยค่อนข้างสูงไปทำให้เกิดภาระต่อระบบ โดยขณะนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อพึ่งพาตนเองรัฐควรจะลดอุปสรรคต่างๆ เพราะยังค่อนข้างยุ่งยากอยู่