xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนลุ้นรัฐขยายเวลาลดภาษีฯ ดีเซล ขับเคลื่อน ศก.โค้งสุดท้ายปลายปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอกชนหนุนรัฐขยายเวลาลดภาษีฯ ดีเซล 5 บาทต่อลิตรถึงสิ้นปีหวังกระตุ้นแรงซื้อโค้งสุดท้ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2565 มั่นใจส่งออกปีนี้โต 8% จับตาส่งออกรูปเงินบาทภาคเกษตรและเกษตรแปรรูป 9 เดือนเติบโตสูงช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ผวาปี 2566 เศรษฐกิจโลกถดถอยอาจฉุดรั้ง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) และในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์
เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวมากขึ้นจากภาคการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่องและการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลยังต้องดำเนินมาตรการดูแลผลกระทบด้านพลังงานบางส่วนอยู่เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ โดยเฉพาะการขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ย. 2565 ต่อไปอีกอย่างน้อยถึงสิ้นปี

“เฉพาะส่วนนี้หากรัฐไม่ดูแลดีเซลจะขยับทันที 5 บาทต่อลิตร ซึ่งจะซ้ำเติมต่อราคาสินค้าและการบริการต่างๆ ในช่วงท้ายปีและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จึงคิดว่ารัฐบาลเองก็คงน่าจะขยายเวลาต่อไปอยู่แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐดูแลทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่อุดหนุนดีเซลราว 2 บาทกว่า และเมื่อรวมภาษีฯ อีกดีเซลรัฐอุดหนุนกว่า 7 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่าการอุดหนุนเริ่มลดลงระดับหนึ่งหลังราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวลงแต่ก็ยังคงมีทิศทางที่ผันผวนสูงและมีปัจจัยเสี่ยงเมื่อเข้าฤดูหนาวของประเทศแถบตะวันตกที่จะทำให้ราคาตลาดโลกเพิ่มได้ในช่วงท้ายปี” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วโดยคาดว่าปีนี้จะโตได้อย่างต่ำ 3% โดยส่วนของการส่งออกโตได้ 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแต่ปี 2566 ยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของเศรษฐกิจโลกถดถอยที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การท่องเที่ยวปีหน้าตัวเลขจะขยับสูงขึ้นโดยเฉพาะจากต่างชาติอย่างต่ำจะมีเข้ามาได้ราว 20 ล้านคน ซึ่งหากจีนเปิดประเทศตัวเลขจะสูงมากจึงต้องติดตามว่าจีนจะดำเนินมาตรการอย่างไร แต่ภาคส่งออกที่น่าจับตามองในระยะ 9 เดือนแรกของปีนี้พบว่าภาคเกษตรและเกษตรแปรรูปมีการเติบโตอย่างมาก

โดยพบว่าการส่งออกภาคการเกษตรในเชิงมูลค่าเงินบาทเติบโต 15.26% เกษตรแปรรูปเติบโต 37.7% เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล อาหารกระป๋อง ฯลฯ จึงนับว่าภาคเกษตรที่มีกำลังแรงงานอยู่ราว 12 ล้านคนมีส่วนสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทยและแน่นอนว่าภาคเกษตรที่อยู่ในภาคการส่งออกมีมากกว่า 50% ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรที่จะละเลยในภาคนี้เพราะเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่จะสร้างให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบยั่งยืนได้

"ภาคเกษตรถือว่ามีจำนวนแรงงานสูงและยังมีแรงซื้อที่เพิ่มขึ้น และหากดูแรงงานในระบบประกันสังคมเองอยู่ราว 11.46 ล้านคนซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ดังนั้นทิศทางเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่สิ่งที่กังวลคือเศรษฐกิจโลกถดถอยปี 2566 แม้ว่าเวลานี้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติจะมีมามากแต่เป็นเพียงแง่ปริมาณแต่กำลังซื้อไม่มากนักเพราะนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนยังไม่มา ขณะที่ฝั่งตะวันตกก็ยังมาน้อย" นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น